ประวิตร จี้ปิดจุดเสี่ยงน้ำหลาก ไฟเขียว 2 โปรเจ็กต์บริหารจัดการน้ำ EEC

เขื่อนภูมิพล

กนช.เผยครึ่งหลังปี เดือน ก.ย.-พ.ย. 64 ปริมาณฝนทั้งประเทศจะมีค่ามากกว่าค่าปกติถึง 7-15% จับตาพายุ “โกนเซิน” เข้าไทย เตือนรับมือฝนตกหนัก เสี่ยงน้ำท่วมหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และอีสาน “ประวิตร” สั่งระดมเครื่องจักร เครื่องมือประจำ รับมือจุดเสี่ยงน้ำหลากล่วงหน้า พร้อมขันนอตระบบแจ้งเตือนภัยด้านน้ำเข้าถึงประชาชนแบบเรียลไทม์ เผยไฟเขียว 2 โครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2564 เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเตรียมแผนงานให้เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อรับมือก่อนเกิดภัยธรรมชาติ

โดยเน้นการดูแลเป็นรายพื้นที่โดยเฉพาะจุดเสี่ยงสำคัญ ๆ ที่อยู่ในเขตชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมทั้งในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้าและตามแผนระยะยาว โดยเฉพาะการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้เข้าถึงประชาชนโดยเร็ว เพื่อเตรียมการอพยพป้องกันให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

โดยล่าสุด กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้คาดการณ์ฝน (One Map) พบว่า ในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.64 ปริมาณฝนทั้งประเทศจะมีค่ามากกว่าค่าปกติถึง 7-15%

ขณะที่แนวโน้มการเกิดพายุขณะนี้พบว่า ยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง แต่ก็ประมาทไม่ได้ ขอให้ทุกฝ่ายเตรียมรับมือฤดูฝนปี 2564 ภายใต้ 10 มาตรการ อย่างเคร่งครัด

อีกทั้งมีแผนกรณีฉุกเฉินที่อาจป้องกันทั้งน้ำหลากที่จะเกิดขึ้นเป็นรายหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด แบ่งเป็น เดือน ก.ย.-ต.ค. 64 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง และเดือน พ.ย.-ธ.ค. 64 ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อแจ้งให้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดรับทราบ และซักซ้อมการเผชิญเหตุด้วย

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังรับทราบการขับเคลื่อนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเห็นชอบโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่มีความพร้อมเสนอขอตั้งงบประมาณปี 2566 จำนวน 2 โครงการ ที่จะสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี

ได้แก่ 1) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปี 2565-2570) เก็บกักน้ำต้นทุนได้ 27.50 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เมื่อแล้วเสร็จสามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่รับประโยชน์ในฤดูฝน 35,000 ไร่ ฤดูแล้ง 7,000 ไร่ และเสริมศักยภาพผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกง

2) โครงการสูบผันน้ำจากคลองสะพานแนวที่ 2 จังหวัดระยอง ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (ปี 2565-2568) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสูบน้ำกลับเข้าสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ เพิ่มอีก 50 ล้าน ลบ.ม./ปี

โดยให้กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการโครงการเติมน้ำให้อ่างประแสร์ และกิจกรรมใช้น้ำจากอ่างประแสร์ให้เกิดความสมดุล ซึ่งทั้ง 2 โครงการอยู่ใน 38 โครงการ ตามแผนพัฒนาแหล่งน้ำภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับอีอีซี

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาระบุ พายุโซนร้อนกำลังแรง “โกนเซิน” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นและเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ประมาณวันที่ 13 กันยายน 2564 ส่งผลทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติออกประกาศแจ้งเตือน วันที่ 10-14 กันยายน 2564 ประเทศไทยจะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงฝนตกหนักมากบางแห่ง ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัย ดังนี้

1) เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี เลย ชัยภูมิ จันทบุรี ตราด ระนอง กระบี่ และ พังงา

2) เฝ้าระวังปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเสี่ยงล้นทางระบายน้ำล้น อาจส่งผลกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ

3) เฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่ง และท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำป่าสักบริเวณอำเภอหล่มสัก และอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ แม่น้ำแควน้อย อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และแควหนุมาน แม่น้ำปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

ขณะที่ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบัน (9 ก.ย. 2564) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 41,674 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 17,628 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 34,685 ล้าน ลบ.ม.

เฉพาะ 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,965 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 2,269 ล้าน ลบ.ม. โดยน้ำต้นทุนถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์น้อย ขอความร่วมมือชาวนางดทำนาปรังเกินแผน