ย้อนโปรเจ็กต์ “ธรรมนัส ” จัดระเบียบที่ดิน สปก. – ย้อนเกล็ดมาเฟีย อตก.

ธรรมนัส พรหมเผ่า
FILE PHOTO : ROYAL THAI GOVERNMENT /

สแกนโครงการภาคเกษตร “ธรรมนัส” 2 ปี กับบทบาทรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ กำกับดูเเล 4 หน่วยงาน ปรับโครงสร้างเพิ่มงบ ซื้อเครื่องบินฝนหลวง จัดสรรที่ดิน สปก.4-01 ให้เกษตรกร ยึดที่ดินผิดกฎหมายของนักการเมือง ปราบมาเฟียตลาด อตก. โมเดล ” 1 สิทธิ์ 1 แผง” คุมนอมินี

วันที่ 12 กันยายน 2564 ภายหลังจาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยื่นขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแแพร่ประกาศ ให้ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการ ความสนใจประเด็นหลักอาจเป็นปมทางการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่หากสแกนลึกไปถึงการทำงานในกระทรวงเกษตรของร้อยเอกธรรมนัส ก็เรียกได้ว่า สร้างสีสันไม่น้อย

สำหรับ 4 หน่วยงาน ที่เขาได้รับการจัดสรรให้ดูแล ได้รับงบประมาณปี 2563 ประกอบด้วย 1.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร งบประมาณ 2,036 ล้านบาท 2.กรมพัฒนาที่ดิน งบประมาณ 4,888 ล้านบาท 3.สำนักงานการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) งบประมาณ 1,805 ล้านบาท และ 4.องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) งบประมาณ 24 ล้านบาท

มองผิวเผินอาจจะเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณ “ไม่มาก” หากเทียบกับงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2563 ทั้งก้อนที่มีมากถึง 109,113 ล้านบาท

แต่ร้อยเอกธรรมนัส กลับกวาดพื้นที่ข่าวได้เป็นรายวัน อาทิ งาน สปก. ที่ย้ำถึงนโยบายเรียกคืนการถือครองที่ดินที่ผิดกฎหมายของนักการเมือง เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกร และนโยบายยึดคืนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมสำหรับทำเกษตรนำมาทำเป็นรีสอร์ท โรงแรม แหล่งชุมชน และเหมืองแร่ แล้วปรับให้เป็นพื้นที่เช่า โดยจะพิจารณาตามแต่ละกรณี เพื่อนำค่าเช่าเข้ากองทุนปฏิรูปที่ดิน

ที่ผ่านมามีทั้ง ยึดสวนส้มชื่อดัง 7-8 พันไร่ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำแปลงใหญ่ รวมถึงการเข้ายึดที่ดินที่ถูกครอบครองโดยมิชอบ จำนวน 2,432 ไร่ ท้องที่บ้านหว่างคลองไทย เมืองกระบี่

ที่ฮือฮามากที่ทุกคนไม่ลืม คือ การลงพื้นที่ตรวจสอบฟาร์มไก่ ของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรค พปชร จ.ราชบุรี ซึ่งครั้งนั้นได้ระบุว่าไม่เอาผิด น.ส.ปารีณา ยืนยันไม่ดำเนินคดีเรื่องที่ดินกับ น.ส.ปารีณา เพราะครอบครองก่อนการปฏิรูปที่ดิน  ย้ำว่าทำตามกฎหมาย ส.ป.ก. คือยึดที่ดิน 682 ไร่กลับคืนมาเป็นของรัฐ

และจริงอยู่ที่งบประมาณในส่วนกรมพัฒนาที่ดินที่ได้รับมอบหมายจะได้รับงบประมาณเทียบไม่ติดกับกรมชลประทาน แต่อย่าลืมว่า “ที่ดิน คือ หัวใจสำคัญของการทำเกษตร” ในฐานะเป็นกระทรวงหลักต้องตอบโจทย์ให้ประชาชนกว่า 70% ของประเทศที่ทำอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้น งานกรมพัฒนาที่ดินจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่ากรมชลประทาน

เขามีกลยุทธ์การเข้าถึง “ชุมชน” อย่างมากทั้ง โครงการก่อสร้างบ่อบาดาลและระบบสูบน้ำโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน (ครั้งที่ 3) จำนวน 30 โครงการ ที่ปูพรมไปถึงในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน ลำปาง เพชรบูรณ์ อุทัยธานี เชียงใหม่ หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ลพบุรี เพชรบุรี และกำแพงเพชร รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 41,760,300 บาท

ทั้งยัง ได้สั่งการให้กรมฝนหลวง ปฏิบัติภารกิจทำฝน และช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ เช่น การช่วยดับไฟป่า ด้านอุปโภค – บริโภค น้ำเพื่อทำการเกษตร รวมถึงการเติมน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อยในขณะนี้ รวมถึงแก้ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า ที่ทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และสร้างกำลังพลของกรมฝนหลวงใหม่ และมีแผนจัดซื้ออากาศยานเข้ามาทดแทนที่เสื่อมสภาพ สนับสนุนงบประมาณให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับกำลังพลที่มีอย่างจำกัด

นอกจากนี้ ยังไม่พลาดงานกระแสร้อนอย่าง การปลุกปั้นโครงการปลูกสมุนไพรในเขตพื้นที่ สปก. จ.ชลบุรี เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการความร่วมมือกับสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยในอนาคตตั้งเป้ามุ่งพัฒนาพื้นที่นี้สู่การเป็นเมืองแห่ง Smart city

สุดท้ายในงานดินแดนพิศวงอย่าง อตก. ก็มีการปรับรูปแบบการดำเนินการจากยุคก่อนที่เป็นเครื่องมือในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำของรัฐบาล แต่เมื่อปลายปี 2562 สามารถชำระหนี้และลดการขาดทุนเหลือ 181 ล้านบาท ในปี 2563 ขาดทุน 111 ล้านบาท

ไฮไลต์เด็ด คือ คือการสั่งสำรวจตลาด อ.ต.ก. เพื่อป้องกันการเกิดมาเฟียคุมตลาด โดยให้ยึดโมเดลของตลาดคลองเตย ” 1 สิทธิ์ 1 แผง” ในการวางระเบียบให้ชัดเจน และจัดการกับผู้เช่าแผงค้า ให้ผู้ค้าหนึ่งรายมีสิทธิทำสัญญาโดยตรงกับอ.ต.ก. เพียงหนึ่งแผงเท่านั้น ห้ามมีการปล่อยเช่าต่อ รวมถึงต้องตรวจสอบไม่ให้เกิดกรณีการใช้รายชื่อของบุคคลอื่นมาเป็นนอมินีโดยเด็ดขาด

แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “การประกาศลาออกการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่น่าส่งผลกระทบกับโครงการต่างๆทั้งหมดแต่อย่างใด เนื่องจากส่วนใหญ่ได้ดำเนินการตามกรอบงบประมาณปกติ  จึงสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ไม่สะดุด  ซึ่งทั้ง 4 หน่วยงานในการกำกับดูแลส่วนใหญ่เป็นงบปีต่อปี หากเทียบกับ กรมชลประทาน ซึ่งเป็นกรมขนาดใหญ่ซึ่งที่ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการต่อเนื่อง และงบผูกพัน ดังนั้นจึงไม่กระทบต่อแผนงาน”