ปั้น “EEC แซนด์บอกซ์” ดึงลงทุน อัดสิทธิประโยชน์โฟกัส 3 พื้นที่

EEC-BOI

“คณิศ” เตรียมใช้อำนาจ พ.ร.บ.EEC ให้สิทธิประโยชน์ “3 เขตส่งเสริมพิเศษ EECa-EECd-EECi แซนด์บอกซ์” ย้ำไม่ซ้ำซ้อน BOI ตั้งเป้าดึงสุดยอดนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เครื่องบินโลจิสติกส์ โรงพยาบาล โรงงานผลิตยา เผยแผน 5 ปีดึงเงินลงทุนแตะ 2.5 ล้านล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.หรือ เลขาฯ EEC) เปิดเผยว่า ขณะนี้เตรียมเริ่มจัดทำ (ร่าง) ประกาศสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะใช้อำนาจของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2561 เป็นตัวกำหนดการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนเป้าหมายให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น

ซึ่งจะครอบคลุมสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและที่มิใช่ภาษีอากรเพื่อมุ่งเน้นดึงกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้นวัตกรรมขั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงต้องออกแบบสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการลดอุปสรรคการลงทุน และเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอความคืบหน้าต่อที่ประชุมคณะกรรมการบอร์ดอีอีซีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในเดือนตุลาคม

“หลังจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 5/2564 ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้พิจารณาถึงมาตรการการให้สิทธิประโยชน์ใหม่”

โดยขยายมาตรการสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ EEC ที่ถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่ง ได้แก่ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ (sandbox), เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง จึงต้องมาวางกรอบการให้สิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน

สำหรับ พ.ร.บ. EEC นั้นได้กำหนดการให้สิทธิประโยชน์ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษไว้ดังนี้

1.สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน/ห้องชุดเพื่อการประกอบกิจการหรือการอยู่อาศัย

2.สิทธิในการนําคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร

3.สิทธิในการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดไม่เกิน 8 ปี หรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50%

4.สิทธิในการทําธุรกรรมทางการเงิน สามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในเขตส่งเสริม

5.สิทธิให้ผู้เชี่ยวชาญ/ผู้บริหารชาวต่างชาติย้ายถิ่นฐาน และการพํานักอาศัยในประเทศไทยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดได้

6.สิทธิอื่นตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสําหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 นี้เป็นส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดย พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถฯนั้นจะสามารถพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีสูงสุดถึง 15 ปีเป็นกรณีพิเศษ

ส่วนสิทธิประโยชน์ของบีโอไอภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน 2560 จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี กรณีใช้ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถได้สูงสุด 15 ปี สิทธิประโยชน์แบ่งตามกิจการกลุ่ม A1 A2 และ A3 กรณีโครงการมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% 3 ปี กรณีตั้งโครงการเขตส่งเสริมนอกเหนือจากที่ EEC กำหนด ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% 2 ปี เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจาก พ.ร.บ.EEC

“สิทธิประโยชน์อีอีซีให้ได้ไม่เกินจากที่บีโอไอให้ 8 ปี แต่ถ้าเป็นเขตส่งเสริมพื้นที่อีอีซีจะใช้กฎหมายเราทำให้สิทธิประโยชน์เกินได้ กิจกรรมจะไม่ซ้ำซ้อนกัน ต่างกันตรงวิธีการทำงาน อีอีซีมีภารกิจดึงนักลงทุนรายใหญ่ที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เช่น สนามบินต้องมีบริษัทชั้นนำของโลกมาทำเรื่องโลจิสติกส์ คาร์โก้ หรือ medical hub ที่ประกาศเขตจีโนมิกส์แล้วที่ ม.บูรพา”

“ดังนั้น จะดึงโรงพยาบาล โรงงานผลิตยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ มาสนับสนุนจีโนมิกส์ เมื่อมันชัดเจนก็จะช่วยเรื่องการลงทุน เราอยู่เฉยไม่ได้ต้องวิ่งออกไปหาเพื่อให้เกิดโครงสร้าง hub โดยจะทำ เฉพาะเจาะจง ทำเฉพาะในเขตอีอีซี ส่วนบีโอไอก็ดำเนินการตามที่เคยทำ”