“พิกบอร์ด” รับลูกสภาเกษตร ขอ 45 วัน ปั๊มหัวใจฟาร์มหมู

หมู

เกษตรกรฟ้อง “พิกบอร์ด” ราคาดิ่งหลังล็อกดาวน์ขาดทุนยับ กก.ละ 20 บาท แถมเจอต้นทุนอาหารสัตว์พุ่งอีก ปลัดไฟเขียวข้อเสนอสภาเกษตรฯ ฟื้นฟูเยียวยา ปรับโครงสร้างการเลี้ยงทั้งประเทศ ขีดเส้น 45 วันต้องเห็นแผน

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติรับข้อเสนอสภาเกษตรกรแห่งชาติ โครงการฟื้นฟูเยียวยา และปรับโครงสร้างการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายกลางถึงรายย่อยทั้งประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแบบยั่งยืน

โดยมอบให้กรมปศุสัตว์ ฝ่ายเลขานุการ พิจารณาจัดทำรายละเอียด และความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ เพื่อไม่ให้ขัดกับกฎเกณฑ์และกฎหมายด้านการเงินการคลัง และให้นำกลับมาเสนอภายใน 45 วัน

สำหรับหลักการดำเนินมาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการเร่งด่วนต้องควบคุมโรคในสุกร รวมถึงการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคในสุกร

2.ระยะปานกลาง ให้เร่งรัดกรมปศุสัตว์เพิ่มศักยภาพการตรวจวินิจฉัย ชันสูตรโรคที่ได้มาตรฐาน และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงสุกรเข้าสู่ระบบ precision agriculture รวมถึงการวิจัยวัคซีนและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ โดยสถาบันการศึกษาร่วมกับกรมปศุสัตว์

3.มาตรการระยะยาว เสนอให้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติให้ประเทศไทยปลอดจากโรคปากและเท้าเปื่อย และสนับสนุนให้ภาคเอกชนหรือกลุ่มเกษตรกร ตั้งโรงงานผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศและจำหน่ายในกลุ่มอาเซียน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้เสนอ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศแต่งตั้งกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน ประกอบด้วย 1.นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม ผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกร 2.นายสุระ พาขุนทด ผู้แทนสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร 3.นายประพจน์ โชคพิชิตชัย เป็นผู้แทนผู้ค้า 4.นายธนกฤต หนังสือ เป็นผู้แทนผู้ประกอบการ

นายชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการบอร์ดเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หลังจากนี้จะทำรายละเอียดเกี่ยวกับงานกฎระเบียบ และความเป็นไปได้ในการเสนองบประมาณ เพื่อเสนอบอร์ดอีกครั้งภายใน 45 วัน

“สถานการณ์ราคาหมูหน้าฟาร์มที่ปรับตัวลดลงนั้น ปัจจัยหลักมาจากการระบาดโควิด-19 ที่มีมาตรการปิดเมือง ส่งผลให้การบริโภคเนื้อหมูลดลง แต่คาดว่าราคาจะปรับตัวดีขึ้นในเดือนตุลาคม”

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการผู้เลี้ยงสุกรกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ราคาจำหน่ายหมูลดลงอย่างมากเหลือ กก.ละ 60 บาท จากมาตรการปิดเมือง ไม่มีนักท่องเที่ยว ปิดร้านอาหาร เกษตรกรขาดทุน การใช้หมูลดลง ส่วนตั้งทุนการเลี้ยงก็สูงขึ้นถึง กก.ละ 88 บาท สูงกว่าต้นทุนที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ไว้ กก.ละ 70-80 บาท จากราคาอาหารสัตว์ในประเทศที่แพงขึ้น เกษตรกรจึงขาดทุนอยู่ กก.ละ 20 บาท

“ที่ผ่านมาผู้ประกอบการร่วมมือจำหน่ายตามราคาควบคุม กก.ละ 80 บาทมาตลอด แต่เมื่อราคาตลาดตกต่ำ ทำไมจึงไม่มีมาตรการช่วยเหลือ วัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในก็มีราคาสูง ภาครัฐควรมาดูเเลอย่างจริงจัง ตอนนี้เกษตรกรขาดทุน กก.ละ 20 บาทแล้ว แต่ยังคาดว่า จากที่หลายจังหวัดเตรียมตัวเปิดการท่องเที่ยว สถานการณ์จะคลี่คลายในเดือนตุลาคม”