กรมฝนหลวงฯ เร่งแผนฝ่าวิกฤตแล้ง เตรียมทำ”ฝนหลวง” รับมือฝนทิ้งช่วง

เครื่องบินทำฝนหลวง

เหลืออีกประมาณ 2 เดือน (กันยายน-ตุลาคม) ก็จะหมดฤดูฝน แต่จากสถานการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนและแหล่งเก็บน้ำต่างๆ ในประเทศไทยปีนี้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของเกษตรกรและประชาชนในอนาคต

วันที่ 19 กันยายน 2564 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่ฝนที่ตกนั้นมีการกระจายตัวในหลายพื้นที่และมีฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำน้อยกว่าเกณฑ์ปกติเกือบทุกภูมิภาค ตั้งแต่ภาคเหนือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ซึ่งเป็นเขื่อนสำคัญที่ผันน้ำลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำใช้การได้ค่อนข้างน้อย

เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคกลาง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา พื้นที่ภาคตะวันออก อ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด พื้นที่ภาคตะวันตก เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ พื้นที่ภาคใต้ตอนบน เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนรัชประภา ซึ่งแต่ละแห่งล้วนมีปริมาณน้ำใช้การได้อยู่ในเกณฑ์น้อย

สุรสีห์ กิตติมณฑล
สุรสีห์ กิตติมณฑล

​ดังนั้นในช่วงระยะเวลาที่เหลืออีก 2 เดือนคือเดือนกันยายนและตุลาคมก็จะหมดฤดูฝน หากไม่มีพายุจรเข้ามาในประเทศไทยโดยตรงที่จะทำให้ฝนตกเหนือเขื่อนเหล่านี้ จะทำให้สถานการณ์น้ำต้นทุนน่าเป็นห่วง โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง และช่วยปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำต่างๆ

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ร่วมมือกับเหล่าทัพ กองทัพอากาศและกองทัพบกในการเร่งปฏิบัติการฝนหลวงในภารกิจเติมน้ำในเขื่อน

โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่เหลืออีก 2 เดือนต่อจากนี้เราจะพยายามขึ้นปฏิบัติการทำฝนทันทีที่สภาพอากาศเข้าเงื่อนไข เพื่อทยอยเติมน้ำในเขื่อนให้ได้ปริมาณน้ำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีน้ำต้นทุนสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอไปจนถึงฤดูฝนถัดไป

สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเดือนกันยายนนี้ มี 2 ภารกิจหลัก คือ การบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร และเติมน้ำต้นทุนให้กับลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยจะปฏิบัติการฝนหลวงทันทีหากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการทำฝน โดยไม่มีวันหยุดใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้น้ำ

โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งกลับคืนสู่ภูมิลำเนา และไปประกอบอาชีพอาชีพดั้งเดิมคืออาชีพเกษตร มีความจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำและสถานการณ์ปัจจุบัน

ทั้งนี้ พื้นที่ที่ต้องเข้าไปดำเนินการเร่งด่วน ณ ขณะนี้อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำ น้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรเป็นประจำทุกปี เนื่องจากอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้สั่งการให้ให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 3 แห่ง

ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ อุบลราชธานี และนครราชสีมา ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง ให้เร่งขึ้นบินทำฝนทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว

“สถานการณ์น้ำปัจจุบันทั้งในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย จึงอยากฝากถึงเกษตรกรและประชาชนร่วมด้วยช่วยกันในการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าจะได้มีปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนในอ่างเก็บน้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึงนี้ เพื่อให้เราก้าวผ่านวิกฤติภัยแล้งไปได้ด้วยดี” อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวย้ำ

ทั้งนี้ จากตำราฝนหลวงพระราชทานนี้ สามารถนำมาแตกแขนงเป็นภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ออกมาได้ 4 ด้านหลักๆ ด้วยกัน ดังนี้ 1.ปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาไฟป่าและหมอกควัน รวมถึงฝุ่นจิ๋ว (PM 2.5) ในชุมชนเมือง ด้วยการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อสลายฝุ่นหมอกควันและดับไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ

2.ปฏิบัติการบรรเทาและยับยั้งพายุลูกเห็บ โดยใช้การยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ ซึ่งติดตั้งกับเครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบอัลฟาเจ็ตของกองทัพอากาศขึ้นบิน และยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์เข้าสู่ยอดเมฆเย็นที่ระดับสองหมื่นฟุต สลายกลุ่มเมฆเพื่อให้เม็ดน้ำเย็นยิ่งยวดแตกตัวเล็กลงและกลายเป็นฝนตกลงมาแทนลูกเห็บ

3.ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและป้องกันภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ทั้งในช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วง

และ 4.ปฏิบัติการเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้มีน้ำเก็บกักสำรองไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอ


โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ร่วมมือกับกองทัพอากาศและกองทัพบก สนับสนุนอากาศยานและกำลังพล ร่วมปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยไม่มีวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ แม้กระทั่งช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติภารกิจฝนหลวง เพียงแค่ต้องปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ตามที่ ศบค.กำหนดไว้