จ่อเพิ่มโทษ ผู้ลักลอบทิ้งกากอันตราย กรอ. ขู่มี GPS ติดตามการขนส่ง

พบสถิติลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม 4 เดือน/ครั้ง ล่าสุด กรอ. เร่งแก้ปมกรณีลักลอบทิ้งกากอุตฯในพื้นที่ จ.ลพบุรี จ่อเอาผิดเจ้าของที่ดินและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดขอเวลา 3 วัน จี้หาต้นตอทั้งผู้ขนส่ง ผู้รับ ผู้ก่อกำเนิดทั้งหมด เตรียมเพิ่มโทษเอาผิดทั้งปรับ-คุก เพิ่ม เร่งใช้ระบบ e-Fully Manifest ติดตามรถขนกากผ่าน GPS หวังเรียลไทม์ยุติปัญหาทิ้งของเสียระหว่างทางได้หมด

วันที่ 20 กันยายน 2564 นายสหวัฒน์ โสภา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยถึงกรณีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ ว่า กรอ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี เพื่อยืนยันและเก็บหลักฐานภาพถ่าย และรายละเอียดข้อเท็จจริง เพื่อหาความเชื่อมโยงกับผู้กระทำผิด โดยได้เก็บของเหลวไม่ทราบชนิดที่คาดว่าจะเป็นวัตถุอันตรายตามบัญชีวัตถุอันตราย เพื่อนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติม 

เบื้องต้นทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของนายสุเทพ ขวัญตา เดิมมีลักษณะเป็นบ่อที่มีการขุดดินออกไปเกิดเป็นแอ่งน้ำ มีขนาดเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ จากการประเมินด้วยสายตาเบื้องต้น คาดว่าบ่อดังกล่าวมีความลึกประมาณ 10 เมตร ด้านหน้าติดถนนมีการกองของเสียที่มีลักษณะเป็นของเสียอุตสาหกรรม และของเสียอื่น ๆ ปะปนกัน โดยคาดว่าจะมาจากหลายแหล่งที่มา

ล่าสุด กรอ.ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษการลักลอบกองและฝังของเสียที่มีกลิ่นเหม็นฉุนคล้ายกลิ่นสารเคมี และพบภาชนะปนเปื้อนสารเคมี ภาชนะบรรจุสารเคมีไม่ทราบชนิด ของเสียลักษณะเป็นผงสีขาว กากสี พบบ่อน้ำเสียที่มีการปนเปื้อนโดยน้ำมีสีดำ สีแดงคล้ายสนิมเหล็ก โดยในบริเวณดังกล่าว ยังพบรถแม็คโครจำนวน 2 คัน ซึ่งมีนายสุเทพ ขวัญตา เป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง และมาตรา 73 ในความผิดฐานครอบครองวัตถุอันตราย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

“กรอ.ได้เก็บตัวอย่างของเหลวไม่ทราบชนิด ของเสียที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว เพื่อนำมาวิเคราะห์ เเละสืบหาผู้กระทำผิด ซึ่งหากได้ข้อมูลรถขนส่งที่นำกากอุตสาหกรรมไปลักลอบทิ้งในบริเวณดังกล่าวแล้ว กรอ.จะร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้ขนส่ง ผู้รับกำจัด ผู้ก่อกำเนิด ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้เรียกตัวเจ้าของที่ดิน เจ้าของรถ และพยานที่พบเห็นเหตุการณ์ เข้าให้ปากคำ และสืบหาต้นตอของของเสียที่นำมาลักลอบทิ้งต่อไป”

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนในพื้นที่มีข้อมูลเพิ่มเติม เช่น กล้องวงจรปิดตามแนวเส้นทาง ภาพถ่ายของรถต้องสงสัย สามารถประสานส่งข้อมูลมายัง กรอ.ได้ทันที ขณะเดียวกันได้ประสานไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอข้อมูลรถบรรทุกที่ผ่านบริเวณดังกล่าวตามพิกัด GPS ว่ามีรถบรรทุกประเภทใดที่ผ่านบริเวณดังกล่าวบ้าง เพื่อจำกัดวงของผู้ต้องสงสัยให้แคบลง 

นอกจากนี้ จะประสานไปยังโรงงานในพื้นที่ที่มีกล้องวงจรปิด เพื่อส่งข้อมูลซึ่งอาจนำไปยังตัวผู้กระทำผิด และหากมีหลักฐานที่ครบถ้วนสมบูรณ์จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป โดยให้กำจัดของเสียเหล่านั้นและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้คืนสู่สภาพปกติ 

“เดิมระบบติดตามการขนาดกากอุตสาหกรรมเราจะให้ทางผู้ขนกากมาขอใบอนุญาต ซึ่งมันจะระบุว่าจะไปรับที่โรงงานต้นทางที่ไหน ปริมาณเท่าไร วิ่งเส้นทางไหน เพื่อไปโรงกำจัดที่ไหน และของใหม่เราปรับมาใช้ระบบการขออนุญาตผ่านออนไลน์ กระบวนการคือเหมือนกันเราจะรู้ด้วยการติดตามรถขนกากผ่านระบบ GPS ซึ่งตอนนี้มีขึ้นทะเบียนในระบบเราแล้วกว่า 5,000 คน 

และขณะนี้เราได้ทดลองใช้ระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร (e-Fully Manifest) ที่ทดลองใช้มาแล้ว 1 เดือน จะทำให้เรารู้กระบวนการทำงานทุกอย่างตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างทาง ปลายทางละเอียดขึ้นเร็วขึ้น แก้ปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียได้ โดยนายวันชัย พนมชัย ว่าที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมคนใหม่ (มีผล 1 ต.ค. 64) กำชับว่าจะต้องไม่เกิดกรณีนี้ขึ้นอีก เพราะจากสถิติเดิมที่ผ่านมาพบการลักลอบทิ้งขยะในลักษณะนี้ 4 เดือน/ครั้ง นับว่าบ่อย”

ทั้งนี้ กรอ.จะเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้นทั้งจำคุกและปรับ โดยกรณีดังกล่าวพบว่า ผิด พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือความผิดฐานประกอบกิจการโรงงานจำพวก 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 12) โดยโทษเดิมจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 50)

และผิด พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือความผิดฐานครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 หรือชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23) ขึ้นอยู่กับว่ากากอุตสาหกรรมที่ตรวจพบเป็นวัตถุอันตรายชนิดใด ซึ่งโทษเดิมจะต้องระวางโทษสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 70 หรือมาตรา 71 หรือมาตรา 72 หรือมาตรา 73)