ฝุ่นตลบ “สรรหา” รองผู้ว่าการ กยท. คนนอก

กยท.

การยางแห่งประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมาก ผลพวงจากราคายางที่ค่อนข้างต่ำ และเงินค่าธรรมเนียมการส่งออก (cess) ก็ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง มีผลเชื่อมโยงกับรายได้องค์กร และการกำหนดทิศทางนโยบายยาง ซึ่งเป็นพืชเกษตรหลักที่กุมฐานเสียงประชาชนกว่า 2 ล้านครัวเรือน ดังนั้น การวางตัว “บุคคล” จึงเป็นหมากสำคัญที่เชื่อมโยงถึงฐานเสียงในอนาคตของประชาธิปัตย์ เจ้ากระทรวงและเจ้าของพื้นที่

ไม่แปลกที่การสรรหารองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กลายเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องลากยาวมานานกว่า 2 เดือน นับจากเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่เพจเฟชบุ๊กของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กยท. (สร.กยท.) ได้เผยแพร่ข้อความว่า “รองผู้ว่าการ…? ประกันเกษตรกร…? ใบสั่งในใบเดียวกัน ท่านนายกฯรู้บ้างหรือยัง…เบื้องหลัง…? หรือว่า กยท.จะต้องเปลี่ยน ห…เพิ่มเติม” แต่กระบวนการสรรหาก็ดำเนินการต่อเนื่องมา

กระทั่งวันที่ 16 กันยายน ประกาศ กยท. ชื่อผู้ผ่านการสรรหาและคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (นักบริหารระดับ 10) ปรากฏชื่อ ดร.กวีฉัฏฐ ศีลปพิพัฒน์ ซึ่งจะขึ้นมารับตำแหน่งแทนผู้ที่จะเกษียณในเดือนกันยายน (นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย)

ซึ่งเมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปพบว่า “ดร.กวีฉัฏฐ” คนนอก กยท. แต่เป็นคนในของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นลูกชายของ “ประสันต์ ศีลพิพัฒน์” อดีตนายกเทศมนตรีเมืองสมุทรปราการ และเคยลงสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต เขต 1 จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี 2562 และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 นายเฉลิม ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีคำสั่ง 1349/2563 แต่งตั้ง ดร.กวีฉัฏฐ เป็นกรรมการ (ผู้ทรงคุณวุฒิ) ภายใต้คณะกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2

ทันทีที่ประกาศผลการสรรหาเพจ สร.กยท.ประกาศแสดงความไว้อาลัยการสรรหา รองผู้ว่าการ กยท. ด้วย 3 เหตุผล คือ ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ชอบด้วยระเบียบ ข้อบังคับ กยท. และไม่ชอบด้วยหลักธรรมาภิบาล

สมาชิก สร.กยท.ยังร่วมกันแต่งดำลงลายมือชื่อ แสดงเจตจำนงลงฉันทามติร่วมกันผ่านแบบฟอร์มออนไลน์และทำหนังสือไปถึงประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ประธานคณะอนุกรรมการสรรหาฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้พิจารณายับยั้ง และสั่งการให้ กยท.ทบทวน

แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผล แม้ว่านายเฉลิมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการถึงผู้ว่าการ กยท. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 แต่ก็ยังเดินหน้าทำหนังสือแจ้ง ว่าที่รองผู้ว่าการ กยท. มารายงานตัวในวันที่ 20 กันยายน 2564

นายมานพ เกื้อรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กยท. (สร.กยท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจาก สร.กยท.ขอเรียกร้องให้ กยท.ทบทวนแล้ว หากยังไม่มีการทบทวน ทาง สร.กยท.จะเตรียมข้อมูล เพื่อเข้าร้องขอต่อศาลปกครอง ให้เพิกถอนคำสั่งการแต่งตั้งดังกล่าว

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแต่งตั้งคนนอกไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกก่อนหน้านี้ก็มีผู้ว่าการ กยท.คนปัจจุบันที่มาจากการสรรหาคนนอก แต่ตามปกติแล้ว รองผู้ว่าการการยางฯ หรือแม้แต่ผู้ว่าการการยางฯเอง ควรจะให้คนภายใน กยท.ได้เติบโต แต่ก็ต้องเป็นไปตามการสรรหาคุณสมบัติแต่งตั้งขึ้นมา ซึ่งก็ทำอะไรไม่ได้ และเร็ว ๆ นี้ ประธานบอร์ดจะเกษียณก็ต้องจับตาดูอีกว่าการสรรหาจะเป็นอย่างไร

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การสรรหารองผู้ว่าการ กยท. เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งผู้พิจารณามาจากทุกฝ่าย โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการสรุปและนำรายชื่อเข้าที่ประชุมบอร์ด กยท. เพื่อพิจารณาต่อไป

จากนี้คงต้องลุ้นว่า ผลการสรรหาจะเดินหน้าต่อหรือไม่ อนาคตยางและฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร