จุรินทร์ ลุยโครงการ “จับคู่กู้เงิน คลายทุกข์ SMEs”

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

จุรินทร์ ลุย “จับคู่กู้เงิน คลายทุกข์ SMEs” ประกาศแผนรัฐบาล “ฝ่าโควิด-19” ช่วยผู้ประกอบการ ร้านอาหาร-ส่งออก

วันที่ 22 กันยายน 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษงาน Virtual Seminar “จับคู่กู้เงิน คลายทุกข์ SMEs” ว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ โครงการจับคู่กู้เงินที่กระทรวงพาณิชย์กับสถาบันการเงินได้จับมือกันจัดขึ้น เพราะช่วงที่ผ่านมาที่เราเกิดวิกฤติโควิด-19 ปัญหาใหญ่คือร้านอาหารจำนวนมากขาดเงินหมุนเวียนเพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหารได้ต่อไป และ SMEs ส่งออกก็ต้องการแรงสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากเงินทุนหมุนเวียนและต้องการเห็นภาครัฐเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต การตลาด โดยเฉพาะการต้องปรับตัวเข้าสู่โลกยุค New Normal โครงการจับคู่กู้เงิน 2 โครงการจึงเกิดขึ้น

 

สำหรับโครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหารต้องขอขอบคุณสถาบันการเงิน 5 แห่ง 1.ออมสิน 2.ธ.ก.ส. 3.กรุงไทย 4.SME D Bank และ 5.บสย. ตัวเลขร้านอาหารทั่วประเทศที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีจำนวน 15,967 ราย แต่ที่เป็นบุคคลธรรมดา ถึง 103,000 ราย รวมร้านอาหารที่จดทะเบียนทั่วประเทศมีถึง 118,967 ราย เกิดการจ้างงานถึง 1,000,000 คน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้และผลจนถึงวันนี้ปิดโครงการแล้ว สามารถให้ 5 สถาบันการเงิน ปล่อยเงินกู้ให้ร้านอาหารได้ถึง 2,892 ราย เป็นวงเงิน 2,622 ล้านบาท เฉลี่ย 700,000 บาทถึง 1,000,000 บาทต่อราย สามารถช่วยคนตัวเล็กได้จริง

เพราะในวงเงินทั้งหมดที่ปล่อยกู้เป็นสตรีตฟู้ดหรือร้านอาหารริมถนนรายย่อยถึง 73% จำนวน 2,111 ราย วงเงินกู้ 1,914 ล้านบาท ร้านอาหารจำนวนมาก 5 ลำดับแรกอยู่ในต่างจังหวัด ทั้งสิ้น 1.อุดรธานี 465 ราย 763 ล้านบาท 2.ขอนแก่น 171 ราย 288.3 ล้านบาท 3.นครราชสีมา 323 ราย 239 ล้านบาท 4.ภูเก็ต 45 ราย 21 ล้านบาท และ 5.เชียงใหม่ 5 ราย 2.7 ล้านบาท ซึ่งช่วยคนตัวเล็กในต่างจังหวัดด้วยถือว่าบรรลุเป้าหมายทั้งหมดตามที่ได้ตั้งไว้

และโครงการที่ 2 จับคู่กู้เงินสถาบันการเงิน กับ SMEs ส่งออก ประเทศไทยมี SMEs ประมาณ 3,100,000 ราย เป็น SMEs ส่งออกประมาณ 30,000 ราย คือเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์กับสถาบันการเงินโดยเฉพาะ EXIM Bank จับมือกับกระทรวงพาณิชย์จัดโครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก เป็นสถาบันการเงินหลักร่วมกับ บสย. ในยอดส่งออกรวม 100% ยอดส่งออกที่เป็น SMEs มาร์เก็ตแชร์ 11% ถือว่าน้อยมากทั้งที่มีปริมาณมาก เป็นกลุ่มที่รัฐต้องเข้าไปช่วยดูแลโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ต้น รับหน้าที่ได้ช่วยดูแล SMEs ในหลายเรื่อง คือ

1.จัดตั้ง กรอ.พาณิชย์เพื่อจับมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับเอกชนทำงานร่วมกัน แต่เรายังขาดตัวแทนที่เป็นเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ จากนี้ไปเราจะนำสมาพันธ์ SMEs เข้ามาร่วมเป็น กรอ.พาณิชย์ เพื่อช่วยสะท้อนปัญหาจับมือเดินไปข้างหน้าต่อไป 2.เน้น SMEs ในต่างจังหวัดสร้างผลิตผล มูลค่าสูง ทำรายได้ให้กับภาคการผลิตและการส่งออก ส่งเสริมให้ภาคการผลิตจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะสินค้า GI 3.มุ่งเน้นการเปิดด่านเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดน

4.การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ ให้จัดพื้นที่พิเศษกับ SMEs 5.เร่งส่งเสริมภาคบริการยุคใหม่ ทั้งเรื่องคอนเทนท์ การส่งเสริมภาคบริการสุขภาพการบริการด้านการศึกษา 6.สร้างแม่ทัพบุกตลาดในประเทศและตลาดโลกรุ่นใหม่ ในการเข้ามาทำรายได้ให้ประเทศ เป็นต้น

“ในภาพของรัฐบาลมีคณะกรรมการที่เรียกว่าคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs และในปี 2565 จะเอาเงินให้กับกองทุนส่งเสริม SMEs 1,224 ล้านบาท เมื่อรวมผลงานของโครงการจับคู่กู้เงิน 2 โครงการ 1.ร้านอาหาร 2.SMEs ส่งออกที่ยังเดินหน้าต่อโครงการที่ 1 สามารถช่วยได้ 2,892 รายเป็นเงิน 2,622 ล้านบาท โครงการ 2 ช่วยได้ 252 ราย เป็นเงิน 1,600 ล้านบาท รวมทั้ง 2 โครงการ สามารถช่วยได้ 3,144 ราย เป็นเงิน 4,222 ล้านบาท

และที่สำคัญสามารถช่วยคนตัวเล็กจริง ช่วยร้านอาหารสตรีตฟู้ด ร้านอาหารรายย่อยได้ 2,111 ราย 1,900 กว่าล้านบาท และกระจายไปยังต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ กระจายไปภาคการผลิตต่าง ๆ ไม่ว่าสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร ภาคการเกษตร การสื่อสาร และโลจิสติกส์ เป็นต้น หวังว่า SMEs ส่งออกจะได้มาใช้ประโยชน์ในโครงการจับคู่กู้เงินสถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออกต่อไป”