บอร์ดบีโอไอ ออก 3 มาตรการหนุนEEC-SMEs เริ่ม 1 ม.ค.61 เปิดส่งเสริม “ศูนย์กลางการค้า” บูมลงทุนในภูมิภาค

บอร์ดบีโอไอ ขยายเวลาและปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และสนับสนุนให้กิจการเอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาด เพื่อระดมทุน พร้อมเปิดให้ส่งเสริมกิจการ “ศูนย์กลางการค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร”ที่เน้นการลงทุนใน SEZ ชายแดน เพื่อดันไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้พิจารณานโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนในอนาคต ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในกิจการเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น

โดยคณะกรรมการได้เห็นชอบให้มาตรการสำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 ถึง 30 ธันวาคม 2562 และได้ปรับปรุงเงื่อนไขในการส่งเสริม โดยให้โครงการที่ขอรับการส่งเสริมจะต้องมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หรือศูนย์ความเป็นเลิศ ตามรูปแบบที่กำหนดเพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และปรับปรุงสิทธิประโยชน์โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในกิจการเป้าหมายในพื้นที่พิเศษของอีอีซีใน 3 ระดับ ได้แก่

1.มาตรการในพื้นที่ EEC กรณีลงทุนในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ เช่น เมืองการบินภาคตะวันออก (สนามบินอู่ตะเภา) ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านการบิน อากาศยานและอวกาศในภูมิภาค เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation หรือ EECI) ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมระดับสากล และ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECD) ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านดิจิทัล เป็นต้น โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ (รวมสิทธิประโยชน์เดิมเกิน 8 ปีได้) และลดหย่อนอีกร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี

กรณีลงทุนในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งหมายถึงนิคมอุตสาหกรรมต่างๆที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นการเฉพาะ จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปีหลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ

กรณีลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมทั่วไปที่ได้รับการส่งเสริมในพื้นที่อีอีซีจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 3 ปีหลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ จูงใจเอสเอ็มอีเข้าระดมทุนในตลาด MAI

2.มาตรการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีไทยพัฒนาศักยภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อก้าวสู่ระดับสากล บอร์ดบีโอไอยังมีมาตรการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) โดยให้ได้รับวงเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นเพิ่มอีกร้อยละ 100 ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีดังกล่าวนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึง 30 ธันวาคม 2563

3.เปิดส่งเสริมกิจการ “ศูนย์กลางการค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร” เพื่อเสริมให้มีการลงทุนในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมากยิ่งขึ้น ที่ประชุมเห็นชอบให้เปิดการส่งเสริมกิจการศูนย์กลางการค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) พัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า และต่อยอดโอกาสทางการตลาดโดยใช้ศักยภาพเชิงที่ตั้งของพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 แห่ง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ และทำให้ประเทศไทยก้าวเป็นศูนย์กลางการค้าครบวงจรในภูมิภาคโดยกำหนดให้ยื่นขอรับส่งเสริมภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2561เพื่อเร่งรัดให้มีการลงทุนโดยเร็ว

ซึ่งมาตรการดังกล่าวกำหนดรูปแบบการลงทุนเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.กรณีโครงการที่ตั้งในพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ)ชายแดน 10 จังหวัดจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (กำหนดวงเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 100 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) และได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล อีกร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี หลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

และ2.กรณีโครงการที่ตั้งในพื้นที่นอกเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะต้องลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) อย่างน้อย 1 แห่งควบคู่กันไป จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี(กำหนดวงเงินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 100 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนของโครงการที่ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ)) เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมาช่วยพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยได้มากขึ้น


ที่ประชุมได้เห็นชอบให้การส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ แก่บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัด ให้บริการขนส่งเส้นทางระหว่างประเทศ เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,578 ล้านบาท เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าทางอากาศ