แก้พ.ร.บ.กองทุนส่งออกผ่านครม.ฉลุย

ครม. เคาะแก้ระเบียบกองทุนส่งออกฯ หลังใช้ 19 ปี หวังเพิ่มประสิทธิภาพ ด้าน สค.เผยเตรียมออกหลักเกณฑ์ใหม่คาดจะมีผลบังคับใช้ปี 2561 ยันไม่กระทบโครงการ ดันส่งออก-สภาพคล่องกองทุนแน่ ล่าสุดสถานะเงินกองทุนฯ สูงถึง 2,000 ล้านบาท ได้รับงบประมาณเสริมฯ จากรัฐบาล

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 อนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอร่างแก้ไขระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2541 (ร่างระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ….) เพื่อให้สอดคล้อง พ.ร.บ. การบริหารกองทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการจัดซื้อพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและใช้เงินกองทุนในการส่งเสริมการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยเสริมเพิ่มเติมจากงบประมาณประจำปีปกติ

“สาระสำคัญการแก้ไขร่างระเบียบคือให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2541 ที่ใช้มานาน 19 ปี ซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อกรมส่งเสริมการส่งออก แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางกรมบัญชีกลางได้ออก พ.ร.บ.บริหารจัดการกองทุนหมุนเวียนใหม่ ซึ่งกองทุนส่งเสริมการส่งออกจัดอยู่ในประเภทกองทุนหมุนเวียนด้วย จึงต้องมีการปรับระเบียบ และออกหลักเกณฑ์การปฏิบัติใหม่ให้สอดคล้องกับกฎหมาย เช่น การให้อำนาจคณะกรรมการกองทุนเพิ่มขึ้น การกำหนดรายละเอียดในส่วนของแผนงานประจำปี และตัวชี้วัดให้เกิดความชัดเจน”

หลังจากผ่าน ครม.แล้ว มีการตั้งข้อสังเกตจากบางหน่วยงาน จึงต้องปรับปรุงคำในระเบียบอีกครั้งเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ลดการซ้ำซ้อน ซึ่ง ครม.จะส่งต่อให้กับคณะทำงานด้านกฎหมายภายใต้สำนักงานเลขานุการ ครม.ดำเนินการแก้ไข คาดว่าจะเสร็จและมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2561

“ในช่วงระหว่างปรับปรุงระเบียบยังสามารถใช้เงินกองทุนได้ปกติ และทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะต้องแก้ไขหลักเกณฑ์ภายใต้ระเบียบ 1 ฉบับ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ฯ ซึ่งมีผลบังคับเดือนสิงหาคม 2560 จากเดิมหลักเกณฑ์จัดจ้างฯ ภายใต้กองทุนเป็นวิธีการเฉพาะสำหรับกองทุนเพื่อความคล่องตัว ทั้งนี้ การแก้ไขไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกองทุน และการประโยชน์จากเงินกองทุนไม่มีการเปลี่ยนแปลง”

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานะเงินกองทุน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย มียอดคงเหลือประมาณ 2,000 ล้านบาท ในแต่ละปีอนุมัติโครงการเพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งมาจากการเสนอของ 10 องค์กรทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน 4 องค์กร คือ สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งโดยปกติจะมีการเสนอโครงการเพื่อขอใช้เงินเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท ส่วนการเบิกจ่ายเงินเป็นไปตามที่ใช้จ่ายจริง ซึ่งอาจจะไม่ถึงวงเงินที่ขอใช้

สำหรับการขอใช้เงิน แต่ละองค์กรจะเสนอโครงการมาก่อนเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ 60 วัน ต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศพิจารณาอนุมัติ และเสนอต่อกรมบัญชีกลาง และรายงานต่อที่ประชุม ครม. และเมื่อใช้เงินดำเนินการเสร็จสิ้นต้องรายงานสรุปการดำเนินโครงการต่อคณะกรรมการบริหารจัดการกองทุน ภายในวันที่ 10 ของเดือนต่อไป เพื่อรายงานต่ออธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะฝ่ายเลขาฯ และต้องเสนอรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ทุกไตรมาสด้วย

ส่วนแหล่งที่มาของเงินกองทุนมาจาก 3 ส่วน คือ จากการเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกสินค้าบางรายการตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 รายได้จากดอกผลของเงินกองทุนซึ่งมาจากดอกเบี้ย และรายได้จากการขอรับจัดสรรงบประมาณ ในส่วนนี้จะได้รับเฉพาะในบางปี ที่เสนอขอ

“แม้ที่ผ่านมารายได้ที่เข้าสู่กองทุนลดลง เพราะสินค้าหลายรายการถูกยกเลิกไม่เก็บค่าธรรมเนียมแล้ว และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับลดลงไปมาก แต่กองทุนยังมีเงินที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณในบางปี จึงมีสภาพคล่อง สามารถให้ความช่วยเหลือภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมการส่งออก หรือนำไปใช้แก้ปัญหาประเด็นการค้าที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเงินที่เสริมจากงบประมาณที่กรมได้รับจัดสรรปกติ”

ส่วนกรณีที่กรมบัญชีกลางดึงเงินกองทุนกลับไปใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านที่จำเป็นเมื่อ 2 ปีก่อน เป็นการพิจารณาของรัฐบาลว่ากองทุนไหนมีสภาพคล่องส่วนเกินมาก นำไปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์ ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบต่อสภาพคล่องและไม่เกี่ยวกับการปรับแก้ระเบียบครั้งนี้