แข่งประมูลโรงไฟฟ้าVSPP 200รายชิงเค้กรอบสุดท้าย

เปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก ๆ หรือ VSPP Semi-Firm รวมกำลังผลิต 268 MW รอบสุดท้าย ก่อนปิดยาว 2-3 ปี ส่งผลผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่-รายเล็กแข่งกันเดือด อาจยื่นเสนอขายไฟสูงกว่า 1,000 MW ไม่จำกัดโครงการทั้งใหม่-เก่าก็เข้าประมูลโรงไฟฟ้าได้

เป็นที่จับตาของผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งรายเล็ก-ใหญ่สำหรับเตรียมเปิดประมูลโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ Feed in Tariff จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก หรือ VSPP Semi-Firm รวม 268 เมกะวัตต์ (MW) ถือเป็น “ลอตสุดท้าย” ก่อนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะปิดรับซื้อช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้

รับซื้อทั้งโรงใหม่-โรงเก่า

แหล่งข่าวจากวงการผู้ผลิตไฟฟ้ากล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เร็ว ๆ นี้ กกพ.จัดเวทีทำความเข้าใจกับภาคเอกชนถึงเงื่อนไขหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการ VSPP Semi-Firm 268 เมกะวัตต์ (MW) โดยใช้รูปแบบ “การประมูล (competitive bidding)” หลักเกณฑ์เบื้องต้น 1) กกพ.จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากประเภทก๊าซชีวภาพก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจะเปิดรับจากประเภทชีวมวลเป็นลำดับถัดไป 2)

ผู้ชนะประมูลต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบปี 2562 โดยให้เดินเครื่องเต็มกำลังผลิตช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี (peak) ระหว่างเดือน ก.พ-ก.ค. ส่วนช่วงที่เหลือ (off peak) ให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าไม่เกินร้อยละ 65 หรือให้เป็นไปตามที่ กกพ.กำหนด 3) อัตราค่าไฟฟ้าจะเป็นรูปแบบ FiT แบ่งตามประเภทเชื้อเพลิง คือ เชื้อเพลิงชีวมวล รับซื้อที่ 4.24-4.82 บาท/หน่วย-ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 3.76 บาท/หน่วย-ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ที่ 5.34 บาท/หน่วย นอกจากนี้ยังมีส่วนเพิ่มพิเศษค่าไฟฟ้า หรือ FiT premium 30-50 สตางค์/หน่วยจะให้ช่วงที่เดินเครื่องเฉพาะ 6 เดือนที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด

4) การรับซื้อไฟฟ้าจะครอบคลุมทั้งโรงไฟฟ้าใหม่และโรงไฟฟ้าเก่าที่ได้ก่อสร้างไปแล้วก่อนหน้านี้กว่า 20 โรง ส่วนใหญ่กระจายตัวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ไม่ได้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐ ซึ่งประเด็นนี้แตกต่างจากรายละเอียดที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติไว้ว่า จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้ารายใหม่เท่านั้น กกพ.จึงต้องเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ปรับแก้ไขในรายละเอียดตามที่ กพช.ให้อำนาจไว้ คาดว่า กกพ.จะเปิดให้ผู้ผลิตยื่นประมูลเสนอขายไฟฟ้าภายในเดือน ม.ค. 2561

“การเปิดประมูลโรงไฟฟ้า VSPP Semi-Firm รอบนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นรอบสุดท้ายแล้ว สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน หลังจากนี้ยังไม่รู้จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าอีกเมื่อไหร่ ดังนั้นผู้ประกอบการทุกรายจึงต้องยื่นประมูลไว้ก่อน แต่ครั้งนี้จะยากกว่าการประมูลโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าแบบรายเล็ก SPP Hybrid Firm ซึ่งเปิดประมูลก่อนหน้านี้ เพราะ VSPP ไม่มีเงื่อนไขผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูล จะเป็นรายใหญ่ (IPP) หรือรายเล็ก-รายกลางได้ทั้งหมด รวมถึงสามารถออกแบบโรงไฟฟ้าได้ว่ามีกำลังผลิตตั้งแต่ขนาด 3 หรือ 5 หรือ 10 MW ก็ได้ ที่น่าสนใจคือ รัฐกำหนดวิธีรับซื้อด้วยการประมูล ดังนั้นการแข่งขันจึงสูงมาก เพราะเป็นรอบสุดท้าย ใคร ๆ ก็ต้องคว้าไว้ก่อน ส่งผลให้ราคาประมูลขายไฟฟ้าให้รัฐอาจปรับลดลงที่ 3 บาท/หน่วย ซึ่งต่ำมาก”

แข่งกันดุเดือด

แหล่งข่าวกล่าวว่า เนื่องจากการเปิดประมูล VSPP รอบนี้ถือเป็นครั้งแรกของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ๆ ซึ่งจะต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแบบ firm เป็นครั้งแรก คือต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กำหนด จากเดิมที่เป็นรูปแบบ non-firm ที่ให้เลือกเดินผลิตไฟฟ้าเมื่อพร้อม ส่งผลให้มีผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก ๆ กังวลกรณีที่มีปัญหาและต้องหยุดเดินเครื่องที่ให้จ่าย “ค่าปรับ” ด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาโรงไฟฟ้าหยุดเดินเครื่องผู้ผลิต VSPP ต้องหาพันธมิตรทางธุรกิจ หรือผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า VSPP รายอื่นมาเสริมอุด “ช่องโหว่” ทั้งเชิงเทคนิค เงินลงทุน หรือวัตถุดิบที่จะป้อนโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดประมูลโรงไฟฟ้า VSPP ควรจะ “เปิดโอกาส” ให้ผู้ประกอบการรายเล็กจริง ๆ เข้าประมูลก่อนหรือไม่ เนื่องจากรายเล็ก (VSPP) ไม่สามารถแข่งขันเชิงธุรกิจกับโรงไฟฟ้ารายใหญ่มาก (IPP) ที่สามารถเข้าประมูลครั้งนี้ได้ด้วย

ล่าสุดมีการคาดการณ์ในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนว่า จะมีผู้เข้าร่วมประมูลรอบนี้ค่อนข้างมาก “อาจจะมากกว่า 200 ราย หรือคิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าที่เสนอมามากกว่า 1,000 MW” เนื่องจากมองว่า หลังจากรอบนี้แล้ว กกพ.จะ “ชะลอ” เปิดรับซื้อไฟฟ้าในส่วนของกำลังผลิตที่เหลือไว้ก่อน อย่างน้อยอีก 2-3 ปี เพื่อพิจารณาความพร้อมในด้านสายส่งและประเด็นเกี่ยวข้องอื่น ๆ ทั้งนี้คาดว่าผู้ที่เข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm รอบที่แล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้าร่วมประมูลรอบนี้อีก โดยเฉพาะหากไม่ชนะการประมูลในส่วน SPP Hybrid Firm ยกตัวอย่าง รายใหญ่ที่จะเข้าร่วมประมูลแน่ ได้แก่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เสริมสร้าง คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นต้น

UAC-พิจิตรไบโอพร้อมลุย

ด้านนายชัชพล ประสบโชค กรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูเอซี โกลบอล หรือ UAC กล่าวว่า จะนำโครงการโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในพื้นที่ จ.ขอนแก่น กำลังผลิต 3 MW เข้าร่วมประมูล VSPP Semi-Firm โครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จมาหลายปีแล้ว จากเดิมที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เข้ามาส่งเสริมแต่ไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเข้าระบบ นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่น ๆ เตรียมไว้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ยอมรับว่ารอบนี้ “มีการแข่งขันสูงมาก”


ขณะที่นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิจิตรโรงสีร่วมเจริญ 2 ไรซ์ จำกัด กล่าวว่า เตรียมยื่นประมูลโดยจะให้บริษัท พิจิตร ไบโอ เพาเวอร์ จำกัด เข้าร่วมประมูลในประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ทั้งนี้ บริษัทมีความพร้อมด้านเชื้อเพลิง คือ เศษไม้-แกลบ และอื่น ๆ และเตรียมพื้นที่ปลูกพืชพลังงานป้อนให้โรงไฟฟ้าในอนาคตสำหรับสัญญาระยะยาวได้ถึง 20 ปี