ถล่มค่าไฟโรงไฟฟ้าชุมชน หวั่นล่มซ้ำรอย SPP ไฮบริด

โรงไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 43 ราย จ่อลงนาม กฟภ. COD ตามแผนปี’68 กกพ.ปลื้มได้ราคาต่ำ 2.7 บาท ลุ้นนโยบายปรับแผน PDP ขยายเฟสต่อไป ด้านเอกชนสับเละ ปรับวิธีการคัดเลือกบี้เอกชนหั่นค่าไฟทะลุ 80% สุดท้ายนายทุนรวย-เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากไม่ถึงฝัน 1.33 แสนล้าน ส่อเดี้ยงซ้ำรอย SPP Hybrid

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 กกพ.พิจารณาคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) 43 ราย จากผู้สมัครที่ผ่านคุณสมบัติทั้งหมด 169 ราย คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 149.50 เมกะวัตต์ ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.1831 บาทต่อหน่วย

แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 16 ราย 75.00 เมกะวัตต์ ค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 2.7972 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 27 ราย รวม 74.50 เมกะวัตต์ และค่าไฟฟ้าเสนอขายเฉลี่ย 3.5717 บาทต่อหน่วย

โดยหลังจากนี้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกต้องลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใน 7 วัน และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ใน 120 วัน หลังประกาศรายชื่อ โดยกําหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ใน 36 เดือน นับจากวันลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือภายในวันที่ 21 มกราคม 2568

ซึ่งสำนักงาน กกพ.จะจัดสัมมนา เพื่อชี้แจงแนวทางการพัฒนาโครงการตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

“โครงการนี้ได้ 149.5 เมกะวัตต์ เป็นตามกรอบเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดตามแผนการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) แล้ว กระจายไปในพื้นที่ทุกภาค การคัดเลือกด้วยการเสนอราคาทำให้มีราคาลดลงเหลือเพียง 2.7-2.8 บาทต่อหน่วยต่ำกว่าค่าไฟปกติ การผลิตพลังงานหมุนเวียนช่วยเรื่องโลกร้อน และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้เกษตรกร ส่วนจะขยายเฟสต่อไปหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะต้องมีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือไม่ ซึ่งอาจต้องให้ปรับ PDP และแผนผลิตพลังงานหมุนเวียน (AEDP) ใหม่ก่อน”

ด้านแหล่งข่าวจากวงการพลังงานหมุนเวียน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถ้าคัดเลือกโรงไฟฟ้าชุมชนตามแนวทางเดิมที่ภาคเอกชนโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วางไว้ก่อนหน้านี้จะได้ประโยชน์ ทำให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากมากกว่านี้ เพราะเดิมกำหนดให้มีการเสนอราคาเช่นกัน แต่ใช้เกณฑ์เทียบประโยชน์ต่อชุมชนเป็นหลัก ส่วนวิธีใหม่นี้ไม่มีการเทียบตรงนั้น

“เดิมคำนวณว่าจะมีประโยชน์ต่อชุมชนละ 2,500-2,600 ล้านบาทต่อปี ทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 700 ตำแหน่ง ซึ่งเม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจของโครงการ กลับสู่ระบบเศรษฐกิจ 4 รอบ เป็นเงินกว่า 10,294 ล้านบาท และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ 4 รอบคิดเป็น 1.33 แสนล้านบาท จากทั้งค่าจ้าง รายจ่ายเชื้อเพลิง เงินเข้ากองทุน”

“ขณะที่วิธีที่ใช้ในการคัดเลือกครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นการเสนอราคาเหมือนกัน แต่ก็เปิดให้มีการต่อรองราคา แต่ละรายก็แข่งกันให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 30-50% และลดสูงสุด 80% สมมุติว่าเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ โครงสร้างค่าไฟที่เป็น FiT Fix เสนอราคา 2.39 บาท ลดราคาลง 50% เหลือแค่ 1.20 บาท บวกกับส่วนของ FiT ผันแปรที่ 1.80 บาท เท่ากับค่าไฟฟ้ารวมจะอยู่ที่ 3 บาท ต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าชีวมวลที่ กพช.อนุมัติ 4.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งราชการจะเลือกวิธีการนี้เพราะโปร่งใส และทำให้ได้ราคาค่าไฟถูก ขณะที่นายทุนขายหุ้นกำไรพุ่งแล้วตั้งแต่ผลชนะประมูล”

“เกษตรกรจะไม่ได้ประโยชน์ เพราะผลจากการหั่นราคาแข่งกัน โรงไฟฟ้าที่ชนะประมูลต้องกดราคาซื้อวัตถุดิบ ถ้าปกติถ้าขายไฟ 4.20 บาท ซื้อเศษไม้ได้ตันละ 1,200 บาท ได้ราคาตลาด แต่พอขายไฟได้แค่ 3 บาท ต้นทุนการรับซื้อวัตถุดิบคงเหลือตันละ 700 บาท ต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งมันไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการที่ต้องการกระตุ้นราคาพืชเกษตรและเศรษฐกิจฐานราก”


และท้ายที่สุดโครงการนี้ก็เสี่ยงจะต้องเลิกเพราะผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย ผลนี้กว่าจะเห็นก็คงอีก 3 ปีข้างหน้า ถึงเวลาก็จะมาอ้างเหตุผลว่าผลิตไม่ได้ต้องยกเลิกโครงการ ซ้ำรอยโครงการ SPP Hybrid และที่เลวร้ายกว่านั้นคือโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่เวิร์กก็ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จากก๊าซเช่นเดิม