ส่องโอกาสลงทุน CLMVI

ลงทุน CLMVI

เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดสัมมนาออนไลน์ “จับสัญญาณอนาคตการลงทุนใน CLMVI” อัพเดตสถานการณ์ 5 ประเทศเป้าหมายของนักลงทุนไทย

ลุยดิจิทัลแพลตฟอร์มกัมพูชา

นางสาวนฤมล รินเรืองสิน กรรมการสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชาถือเป็นประเทศที่จะเข้าไปลงทุนไม่ยาก เปิดรับการลงทุน ให้สิทธิต่างชาติสามารถถือครองที่ดินได้ 100% โดยไม่ต้องมีคนท้องถิ่นถือหุ้นในบริษัท บวกกับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เส้นทางโลจิสติกส์ชายแดนที่ติดกับไทยจึงสะดวก ส่วนแรงงานยังมีความเชี่ยวชาญน้อย

โดยอุตสาหกรรมที่มีโอกาส คือ ไอที อีคอมเมิร์ซ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม จากเดิมที่ไทยเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรม การ์เมนต์ รองเท้า ไบโอเคมิคอล แต่อุปสรรคการลงทุนสำคัญ เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมได้ ซึ่งในอนาคตบีโอไอจะเปิดหลักสูตรนี้สำหรับเตรียมพร้อมก่อนออกไปลงทุน

บูมไฮสปีดจีน-ลาว

นายฉลองชัย ชยุตระพงศ์ รองประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว และรองนายกสมาคมนักธุรกิจไทยใน สปป.ลาว กล่าวว่า ลาวถือเป็นประเทศที่มีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนเพราะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 14 แห่ง สิทธิประโยชน์ให้เช่าที่ดินได้ระยะยาว การลดหย่อนภาษียกเว้นภาษีนำเข้า สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากร (จีเอสพี) มาสมทบให้อีก

ส่วนตลาดแม้ว่าจำนวนประชากรเพียง 8-9 ล้านคน แต่จุดดึงดูดสำคัญตอนนี้คือ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมชายแดนจีน-เวียงจันทน์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการขนส่งนอกเหนือจากเส้นทางผ่านเมียนมาและกัมพูชา

เส้นทางนี้ช่วยลดระยะเวลาขนสินค้าจากลาวไปจีน จาก 2-3 วันเหลือเพียง 4-6 ชม.เท่านั้น และมีความสามารถรองรับคนและสินค้าได้ 2.4 ล้านตัน/ปีภายในปี 2530 ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับสินค้าส่งออกสำคัญโดยเฉพาะสินค้าเกษตร

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่น่ากังวลขณะนี้คือ ค่าเงินกีบอ่อนค่าปัจจุบัน 340-360 กีบ/บาท อัตราการว่างงานสูงมากจากโควิดทำให้มีการปิดของธุรกิจถึง 30% อีกทั้งนักลงทุนไทยควรใช้รูปแบบการลงทุนร่วมกับพันธมิตรและซัพพลายเชน

วิกฤตเมียนมาทำลงทุนซบเซา

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่า เมียนมาอาจต้องถูกละสายตาจากนักลงทุนไทยไปไม่น้อย ด้วย 2 เหตุการณ์ใหญ่คือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง และการระบาดของโควิด-19 ที่ค่อนข้างรุนแรงด้านชายแดนฝั่งตะวันตกที่ติดกับอินเดีย แต่ท้ายที่สุดแล้วโอกาสการลงทุนจะกลับมาโดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ไทยเทรดเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นศูนย์บริการนักลงทุน และใช้แสดงสินค้าที่จะเป็นพื้นที่สำหรับสตาร์ตอัพไทยเข้าสู่เมียนมาในเร็ว ๆ นี้

และที่สำคัญเมียนมายังมีโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ถึง 80 โครงการ เฉพาะในย่างกุ้งจาก 100 โปรเจ็กต์ของทั้งประเทศ อาทิ การพัฒนาคอมมิวนิตี้นิวย่างกุ้งซิตี้ เฟส 2 ตลาดสก็อต สะพานข้ามแม่น้ำย่างกุ้ง นิคมอุตสาหกรรมนับว่าเป็นแผนพัฒนาประเทศที่นักลงทุนสนใจที่สุดบวกกับแรงหนุนของจีนที่จะใช้เมียนมาเป็นประตูส่งผ่านสินค้าไปยังอินเดียอีกด้วย

FTA หนุนเวียดนามเหนือคู่แข่ง

นายราเกส ซิงห์ กรรมการเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เปิดเผยข้อมูลว่า เวียดนามมีความได้เปรียบจากการลงนาม FTA กับหลายประเทศสำคัญ ทำให้เกิดโอกาสและสิทธิประโยชน์หลายเรื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง เริ่มปรับจากอุตสาหกรรมเกษตรเข้าสู่ภาคการผลิต การเปิดรับนักลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ

จะเห็นว่าการลงทุนโดยตรง (FDI) สูงขึ้นทุกปีแซงไทย และการเมืองมีเสถียรภาพการพัฒนาเศรษฐกิจสม่ำเสมอ นโยบายชัดเจนต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ

กลยุทธ์พิเศษคือ การโฟกัสที่นักลงทุนเป้าหมายก่อน แล้วจึงกำหนดมาตรการให้สิทธิประโยชน์มารองรับ เช่น เจรจาดึงซัมซุงเข้ามาแล้วกำหนดสิทธิประโยชน์รองรับทั้งด้านภาษี คน จากนั้นซัพพลายเออร์ซัมซุงก็ตามมาด้วย และมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกถึง 96 แห่ง

“การบริหารจัดการโควิด-19 ดี จัดหาวัคซีนเร็ว ปักธงที่การฉีดให้กับภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาคการท่องเที่ยวก่อน เพื่อไม่ให้กระทบซัพพลายเชน จึงพลิกสถานการณ์ขึ้นมาได้โดยสินค้าสำคัญอย่างรองเท้า สิ่งทอ ปาล์ม ยังสามารถส่งออกได้ดี”

อินโดนีเซียแหล่งปั้นสตาร์ตอัพ

นายรัชชุ์นภ พจนาวราพันธุ์ ผู้แทนจากสภาธุรกิจไทย-อินโดนีเซีย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ไม่ส่งผลต่ออินโดนีเซีย โดย GDP ปี 2564 ขยายตัว 4.5% ปี 2565 ขยายตัว 5-5.5%

จากที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการศึกษา การก่อสร้าง เศรษฐกิจ และการเมืองที่ดี เริ่มเห็นการลงทุน FDI ธนาคารและสตาร์ตอัพที่มีสกิลสูงถึงขั้นยูนิคอร์น ส่วนสิทธิประโยชน์เปิดกว้าง มีการเปิดให้มีการเช่าซื้อที่ดินและอัตราค่าแรงยังไม่สูงมาก โดยปริญญาตรีเดือนละ 10,000 บาท สำหรับนักลงทุนไทยควรต้องศึกษาและหาพันธมิตรธุรกิจท้องถิ่น