“ประยุทธ์” สั่งแก้ลุ่มน้ำยมท่วมซ้ำซาก ลุยเยียวยาภาคเกษตรทั่วประเทศ 

ประยุทธ์

เกษตรฯ เผยนายกฯ สั่งทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหาน้ำในลุ่มน้ำยม สั่งระบายน้ำพื้นที่สุโขทัย หลังฝนตกต่อเนื่องกระทบการเกษตร 4 อำเภอ จากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่”

วันที่ 26 กันยายน 2564 นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ปี 62 โดยมีการปรับอัตราการให้ความช่วยเหลือให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่เกิดภัย 1 ก.ย.64 โดยช่วยเหลือกรณีเสียหายสิ้นเชิง (ตาย/สูญหาย) แบ่งเป็น

ด้านพืช ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท

ด้านประมง (สัตว์น้ำ) ได้แก่ ปลาทุกชนิด/สัตว์น้ำอื่น ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ กุ้ง/หอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ และกระชัง/บ่อซีเมนต์ตรม. ละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตรม.

ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ โค ตัวละ 13,000 – 35,000 บาท (ไม่เกินรายละ 5 ตัว) กระบือ ตัวละ 15,000 – 39,000 บาท (ไม่เกินรายละ 5 ตัว) สุกร ตัวละ 1,500 – 3,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว) แพะ/แกะ ตัวละ 1,500 – 3,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว)

ไก่พื้นเมือง/ไก่งวง ตัวละ 30–80 บาท (ไม่เกินรายละ 300 ตัว) ไก่ไข่/เป็ดไข่ ตัวละ 30 – 100 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว) ไก่เนื้อ ตัวละ 20 – 50 บาท (ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว) เป็ดเนื้อ/เป็นเทศ ตัวละ 30 – 80 บาท (ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว)

นกกระทา ตัวละ 10 – 30 บาท (ไม่เกินรายละ 1,000 ตัว) นกกระจอกเทศ ตัวละ 2,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว) และห่าน ตัวละ 100 บาท (ไม่เกินรายละ 300 ตัว)

ด้านอื่น ๆ ได้แก่ การช่วยเหลือค่าขนย้ายดินโคลนไม่เกิน 35,000 บาท/ราย การช่วยเหลือค่าปรับเกลี่ยพื้นที่ เหมาจ่าย 800 บาท/ไร่ การช่วยเหลือค่าปรับพื้นที่ทำนาเกลือ ไร่ละ 1.220 บาท ไม่เกิน 30 ไร่

การช่วยเหลือค่าเครื่องมือประกอบอาชีพไม่เกิน 11,400 บาท/ครัวเรือน และการช่วยเหลือค่าซ่อมแซมคอกสัตว์/โรงเรือน/ยุ้งข้าว ครัวเรือนละไม่เกิน 5,700 บาท

สำหรับกรณีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยกับ ธ.ก.ส. แบ่งเป็น ข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 (Tier1+2) ได้รับความคุ้มครอง 1,500 บาท/ไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 (Tier1+2) ได้รับความคุ้มครอง 1,740 บาท/ไร่

ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับสิทธิ์การช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเกษตร/ประมง/ปศุสัตว์อำเภอ หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ใกล้บ้านท่าน โดยหลักเกณฑ์/คุณสมบัติเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือ จะต้องเป็นเกษตรกรที่มีพื้นที่การผลิตเสียหายสิ้นเชิงอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตฯ และขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัย

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลร่องมรสุม พาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำ กำลังแรงที่อ่อนกำลังจาก พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่งผลทำให้ประเทศไทย ตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่งผลให้ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำท่าในลำน้ำแม่มอกและคลองแม่รำพัน  เพิ่มสูงขึ้นไหลเข้าท่วมพื้นที่ อ.ทุ่งเสลี่ยม อ.บ้านด่านลานหอย อ.เมืองสุโขทัย ฝั่งขวาของแม่น้ำยม และอ.สวรรคโลก พื้นที่รวมประมาณ140,000ไร่

โครงการชลประทานสุโขทัย ได้จัดจราจรทางน้ำด้วยการใช้ระบบชลประทาน เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชน ที่ประตูระบายน้ำ (ปตร.) บ้านหาดสะพานจันทร์ ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่าน 485.5 ลบ.ม./วินาที

ส่วนด้านเหนือ ปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์ ได้ผันน้ำเข้าคลองส่งน้ำฝั่งซ้ายผ่าน ปตร.คลองหกบาท ในอัตรา 177.27 ลบ.ม./วินาที และระบายลงสู่แม่น้ำยมสายหลักที่สถานีวัดน้ำ Y.64 อ.บางระกำ อัตรา 356.60 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมให้แม่น้ำยมสายหลักมีระดับต่ำ ทำให้ปริมาณน้ำที่มาจากลำน้ำแม่มอกระบายลงได้สะดวกมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ผันน้ำเข้าคลองเชื่อมแม่น้ำยม ผ่านคลองเล็กต่างๆ รวม 99.45 ลบ.ม./วินาที รวมไปถึงระบายน้ำผ่านปตร.บ้านยางซ้าย 277.15 ลบ.ม./วินาที ช่วยลดการระบายน้ำไปยังด้านท้าย ทำให้น้ำจากทุ่งทะเลหลวง และคลองแม่รำพัน สามารถระบายลงสู่แม่น้ำยมได้สะดวก พร้อมกับเร่งระบายน้ำในลำแม่มอกเข้าสู่แก้มลิงและพื้นที่ลุ่มต่ำ

ได้แก่ แก้มลิงวังทองแดง และแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง เข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งปากพระ และส่วนหนึ่งไหลลงแม่น้ำยมต่อไป พร้อมกันนี้ ยังได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 22 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีกจำนวน 5 เครื่อง เพื่อช่วยสูบน้ำและเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนให้เร็วที่สุด ซึ่งหลังจากที่ระดับน้ำกลับเข้าสู่ตลิ่งแล้ว จะทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีก เพื่อเร่งการระบายน้ำต่อไป คาดว่าหากไม่มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่ สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 15 วัน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยควบคู่ไปกับการเก็บกักเพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาล ด้วยการงดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ตอนบน พร้อมผันน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ในพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติบึงบอระเพ็ด

ที่ปัจจุบัน (26 ก.ย.64) มีปริมาณเก็บกักแล้วกว่า 58% ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ปัจจุบัน (26 ก.ย.64) รับน้ำเข้าทุ่งไปแล้ว กว่า 60 % ทั้งนี้ ยังสามารถรับน้ำเข้าทุ่งได้อีกกว่า 200 ล้าน ลบ.ม.

“นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหาในทางด้านน้ำในลุ่มน้ำยมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”