จดทะเบียนธุรกิจใหม่ ส.ค. 64 เพิ่ม 3% ลุ้นรัฐผ่อนคลายธุรกิจยอดทั้งปีได้ 7 หมื่นราย

จดทะเบียนธุรกิจเดือนแรกยอดพุ่ง
ภาพโดย Sozavisimost from Pixabay

กรมพัฒฯ เผยจดทะเบียนเดือน ส.ค. 2564 เพิ่มขึ้น 3% ลุ้นรัฐผ่อนคลายมาตรการ 1 ก.ย. จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักธุรกิจทำให้การจดทะเบียนธุรกิจทั้งปีได้ 70,000 ราย

วันที่ 27 กันยายน 2564 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ประจำเดือนสิงหาคม 2564 พบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 5,553 ราย เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัว 2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 11,833.29 ล้านบาท และประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก

ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 656 ราย คิดเป็น 12% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 237 ราย คิดเป็น 4% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึง คนโดยสาร จำนวน 203 ราย คิดเป็น 4%

ในขณะที่การจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในระยะ 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2564) มีจำนวนทั้งสิ้น 52,236 ราย เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการจดทะเบียนเลิกธุรกิจในเดือนสิงหาคม 2564 มีจำนวน 1,176 ราย ลดลง 12% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมีมูลค่า ทุนจดทะเบียนจำนวน 4,832.30 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 103 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 68 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจการให้คำปรึษาด้านบริหารจัดการ จำนวน 37 ราย คิดเป็น 3%

ส่วนการจดทะเบียนเลิกธุรกิจในระยะ 8 เดือนแรกของปี พบว่า มีจำนวน 7,246 ราย ลดลง 18% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 ส.ค. 64) ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 807,531 ราย มูลค่าทุน 19.31 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 197,063 ราย คิดเป็น 24.40% บริษัทจำกัด จำนวน 609,161 ราย คิดเป็น 75.43% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,307 ราย คิดเป็น 0.16%

ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคม 2564 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (กรกฎาคม 2564) พบว่าการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในแต่ละภาคธุรกิจนั้น มีแนวโน้มลดลงในกลุ่มธุรกิจบางประเภท โดยกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างทั่วไปเพิ่มขึ้น 63 ราย คิดเป็น 11% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ลดลง 3 ราย คิดเป็น 1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึง คนโดยสารลดลง 28 ราย คิดเป็น 12% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

โดยแนวโน้มที่ลดลงดังกล่าว เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ 40 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าถึง 4% ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นประเด็นสาคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบธุรกิจที่มีการชะลอตัวเพื่อติดตามสถานการณ์อยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในประเทศที่เพียงพอ จะเป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นที่ดีในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งการฟื้นตัวของ การส่งออก และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นปัจจัยเสริมที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าทั้งปี การจดทะเบียนธุรกิจจะอยู่ที่ประมาณ 65,000-70,000 ราย ขณะที่ปี 2565 ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้ง ส่วนปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะส่งผลกระทบเข้าจดทะเบียนกรมฯก็ได้เปิดให้เข้าทำผ่านระบบออนไลน์

ส่วนการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจ พบว่าเดือนสิงหาคม 2564 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 52 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 24 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 28 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,416 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 20 ราย เงินลงทุน 1,646 ล้านบาทรองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ จำนวน 9 ราย เงินลงทุน 2,132 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา จำนวน 6 ราย เงินลงทุน 145 ล้านบาท ตามลำดับ เดือนมกราคม-สิงหาคม 2564 คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ จำนวน 316 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 45,738 ล้านบาท