โล่ง ยังไม่เกิด “มหาอุทกภัย” น้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554

พายุเตี้ยนหมู่ไม่ทำให้เกิด “มหาอุทกภัย” เหมือนปี 2554 ปริมาณน้ำไหลผ่านบางไทรต่ำกว่ามาก แต่ยังต้องระวัง น้ำล้นตลิ่งพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ไล่มาตั้งแต่อยุธยา-ปทุมธานี-นนทบุรี-กรุงเทพฯ

วันที่ 28 กันยายน 2564 ด้วยอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นเตี้ยนหมู่ที่เคลื่อนตัวเข้าประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่วันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา

ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายทั่วไปในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง จนทำให้เกิดความกังวลกันว่า จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ หรือมหาอุทกภัย เหมือนกับปี 2554 หรือเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาหรือไม่

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ประมวลเหตุการณ์และสอบถามผู้เขี่ยวชาญด้านน้ำหลายท่านพบว่า มีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1) ปริมาณฝนตกไม่ได้มากและไม่มีพายุเข้าติดต่อกันหลายลูกเหมือนปี 2554

2) สถานการณ์น้ำในเขื่อนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำใน 4 เขื่อนหลัก (ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาตรน้ำรวมกันต่ำกว่าร้อยละ 50 จึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งพร่องน้ำเหมือนปี 2554

3) ปริมาณน้ำไหลผ่านในสถานีวัดระดับน้ำสำคัญ 2 แห่งยัง “ต่ำกว่า” ปี 2554 เป็นอย่างมาก

โดยสถานี C2 เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,500 ล้าน ลบ.ม./วินาที สถานี C29A บางไทร ซึ่งถือเป็นประตูด่านหน้าที่จะชี้ชะตาว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลน้ำจะท่วมมากน้อยแค่ไหนนั้น มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,127 ล้าน ลบ.ม./วินาที (วันที่ 27 กันยายน 2564)

เมื่อเทียบกับเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 พบว่าปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C2 เขื่อนเจ้าพระยาสูงสุดอยู่ที่ 3,721 ล้าน ลบ.ม./วินาที และสถานี C29A บางไทรอยู่ที่ 3,860 ล้าน ลบ.ม./วินาที หรือปริมาณน้ำไหลผ่านห่างกันถึง 1,221-1,733 ล้าน ลบ.ม./วินาที

ประกอบกับมีการตัดยอดน้ำผ่านทางเครือข่ายประตูระบายน้ำทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา และไม่ได้มีปริมาณท่วมขังในทุ่งเจ้าพระยามาก่อนหน้านี้ จึงทำให้ปริมาณไหลผ่านสถานีบางไทรลดลงไม่ได้มากเหมือนปี 2554

อย่างไรก็ตาม ช่วง 2 ฝั่งของลำน้ำเจ้าพระยาไล่มาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ชัยนาท-สิงห์บุรี-ลพบุรี-อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี-นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จะเกิดน้ำล้นตลิ่ง

โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำและบริเวณที่อยู่นอกคันกันน้ำ แต่กรมชลประทานได้บริหารจัดการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ตามจังหวะน้ำขึ้น-น้ำลง

สามารถร่นระยะทางการระบายน้ำจาก 18 กม. เหลือ 600 เมตร ลดระยะเวลาน้ำไหลผ่านจาก 5 ชม. เหลือ 10 นาที และมีประสทธิภาพระบายน้ำได้สูงสุดเฉลี่ย 45-50 ล้าน ลบ.ม./วินาที

ซึ่งจะช่วยเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลลดผลกระทบพื้นที่น้ำท่วมริมฝั่งเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ดีขึ้น