CPAC นำร่องใช้รถโม่ปูน EV 2,000 คันสร้างดีมานใช้ในประเทศ 

CPAC นำร่องหนุนนโยบายรัฐขับเคลื่อนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทดลองใช้รถโม่พลังงานไฟฟ้า (EV Fleet) 2,000 คัน ขนส่งคอนกรีต ด้าน “กระทรวงอุตสาหกรรม” พร้อมจีบรายใหญ่ ปตท. CP ไทยเบฟ เป็นต้นแบบเพิ่ม ลุ้น “กระทรวงการคลัง” เคาะมาตรการกระตุ้นการใช้ในประเทศ ลดภาษีช่วย-จอดในห้างฟรี

วันที่ 28 กันยายน 2564 นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลัง การลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม และ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ซึ่งอยู่ในเครือ SCG ว่า กระทรวงฯ ขานรับนโยบายรัฐบาลโดยการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนบูรณาการร่วมกัน ในการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และผลักดันให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการลงทุนและสนับสนุนผู้ประกอบการ 

รวมถึงเร่งผลักดันสิทธิประโยชน์และมาตรการรองรับด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมส่งเสริมและบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 ได้อย่าง มีประสิทธิภาพ

“นอกจาก CPAC แล้วเรายังคุยกับ ปตท. และอยากดึงรายใหญ่อย่าง CP ไทยเบฟ เข้ามาร่วมนำร่องใช้รถ EV กับเราเพราะมันจะเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการกระตุ้นให้ดีเกิดมานการใช้ในประเทศเพิ่ม โดยเราก็หวังที่ทางกระทรวงการคลังจะเร่งเคาะมาตรการสนับสนุนออกมาโดยเร็ว เช่นการลดภาษี ยกเว้นนำเข้าชิ้นส่วน ซึ่งจะทำให้ราคารถ EV ถูกลงเมื่อเทียบกับสรรมถนะกับรถสันดาปแล้วเท่ากัน ราคาเท่ากันจะทำให้คนสนใจ EV มากขึ้นซึ่งมันจะส่งผลต่อการลงทุนด้านการผลิตตามมา”

สำหรับสิทธิประโยชน์ด้านอื่น ยังได้เสนอรูปแบบการให้พื้นที่จอดรถฟรี สำหรับในห้างสรรพสินค้าเพื่อคนที่ใช้รถ EV ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการเสนอให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมกับสนับสนุนให้เกิดการใช้ EV และยังได้หารือกับสถานนีน้ำมันทุกค่ายทั้งบางจาก ปตท. กันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับรองรับสถานีชาร์ท

สำหรับเป้าการผลิตรถ EV ในไทยในปี 2568 จะอยู่ที่ 225,000 คัน ปี 2573 จะอยู่ที่ 725,000 คัน และปี 2578 จะเป็น EV เกือบ 100% แต่จะคงสัดส่วนการผลิตรถสันดาปไว้ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นฐานการผลิตรถส่งออกขายให้กับตลาดเพื่อนบ้าน

นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี พร้อมสนับสนุนนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ตามความมุ่งหวังของ CPAC ที่ต้องการให้การดำเนินธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Construction) เพื่อให้การก่อสร้างของ ประเทศเกิดการพัฒนา พร้อมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของเอสซีจี ที่ยึดหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบ สิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และมีบรรษัทภิบาล 

โดย CPAC มีแผนเปลี่ยนยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในจากยานยนต์แบบดั้งเดิมที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง มาเป็นยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้งในส่วนของรถบรรทุก เช่น รถโม่จัดส่งคอนกรีต รถขนส่งปูนซีเมนต์ ตลอดจนรถโดยสารใช้งานทั่วไปของบริษัท โดยตั้งเป้าเป็นรถ EV 100% ภายในปี 2578

สำหรับรถโม่การจัดส่งคอนกรีต CPAC เริ่มทดลองนำรถโม่พลังงานไฟฟ้า (EV Mixer Truck) 

มาใช้ขนส่งคอนกรีตเป็นรายแรกของไทย จำนวน 2,000 คัน ตั้งแต่ปี 2564 และในปี 2565 จะขยายผลใช้การงานในเขต กรุงเทพฯ และปริมณฑล และขยายผลไปทั่วประเทศในปี 2566