เตรียมเขื่อนพระราม 6 รับน้ำจากเขื่อนป่าสัก ป้องกันน้ำท่วมอยุธยา

ฝนตกหนักเพชรบูรณ์กว่า 350 มม. ดันน้ำในเขื่อนป่าสักฯเพิ่มสูงขึ้น 99% เกือบเต็มอ่างฯ กรมชลฯ วางแผนระบายใช้เขื่อนพระราม 6 ควบคุมการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ 700 ลบ.ม./วินาที ป้องอยุธยา

วันที่ 29 กันยายน 2564 รายงานข่าวจากกรมชลประทาน ระบุว่า อิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง และพายุ “เตี้ยนหมู่” ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ระหว่างวันที่ 23 – 25 ก.ย. 64 ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ วัดปริมาณฝนสะสมสูงสุด 3 วัน ได้ที่ อ.วิเชียรบุรี มากถึง 350 มิลลิเมตร(มม.) ทำให้มีน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.บึงสามพัน อ.วิเชียรบุรี อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ อ.ชัยบาดาล อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี และ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตามลำดับ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักฯเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก ณ วันที่ 22 ก.ย. 64 ที่มีปริมาณอยู่เพียง 427 ล้าน ลบ.ม. หรือ 44 % ของความจุอ่างฯ ปัจจุบัน (29 ก.ย. 64) มีปริมาณน้ำเกือบเต็มอ่างฯ หรือ 950 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 99 % ของความจุอ่าง 

กรมชลประทาน ได้วางแผนการระบายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำเหนือที่ยังคงไหลหลากลงสู่เขื่อนป่าสักฯอย่างต่อเนื่อง โดยทยอยเพิ่มการระบายน้ำเป็นลำดับ ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1 – 1.50 เมตร ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำป่าสัก ดังนี้ พื้นที่จังหวัดสระบุรี บริเวณ ต.แสลงพัน อ.วังม่วง ตลาดน้ำต้นตาล อ.เสาไห้ และพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณเทศบาลตำบลท่าเรือ อ.ท่าเรือ กรมชลประทาน ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่องแล้ว

ทั้งนี้ การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำป่าสัก จะระบายให้อยู่ในเกณฑ์ที่แม่น้ำป่าสักด้านท้ายน้ำ สามารถรองรับน้ำได้ โดยไม่ล้นคันกั้นน้ำของแม่น้ำป่าสัก จากนั้นจะใช้เขื่อนพระราม 6 ควบคุมการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ 700 ลบ.ม./วินาที เพื่อป้องกันผลกระทบกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากจะมีการระบายน้ำเพิ่มจะแจ้งให้ทราบต่อไป จึงขอให้ประชาชนติตตามสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิดด้วย