สหรัฐรุกเปิดตลาดสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม กระชับมิตรสินค้าประมงไทย

ประมง

กรมประมงขานรับนโยบายประมงแห่งชาติ เตรียมพร้อมรับมือในการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปยัง USA ภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม MMPA

​ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า สหรัฐคือประเทศคู่ค้าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ อันดับ 1 ของประเทศไทย โดยจากข้อมูลการส่งออกในปี 2563 ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังสหรัฐ มีมูลค่าสูงถึง 3.99 หมื่นล้านบาท

บัญชา สุขแก้ว

ดังนั้น การประกาศกฎระเบียบในการบังคับใช้ข้อกำหนดว่าด้วยการนำเข้าสินค้าประมงภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act : MMPA) ขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประเมินกฎระเบียบข้อบังคับการทำประมง การทำประมงเชิงพาณิชย์ของประเทศที่ส่งสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังสหรัฐที่อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดการตายหรือบาดเจ็บรุนแรงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โลมา วาฬ พะยูน ฯลฯ จึงส่งผลให้ประเทศคู่ค้ากับสหรัฐอเมริกาและประเทศที่ทำการประมงพาณิชย์ (Havesting Nations) ทั่วโลก อาจเข้าข่ายเสี่ยงต่อการถูกห้ามนำเข้าสินค้าประมง

ทั้งนี้ สหรัฐได้ประกาศเริ่มใช้กฎหมาย MMPA เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 และกำหนดระยะเวลาผ่อนผัน 5 ปี เพื่อให้ประเทศคู่ค้าได้มีการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ MMPA และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยในช่วงระหว่างการผ่อนผันนี้ ประเทศที่ส่งออกสินค้าประมงไปยังสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศไทย ได้มีการจัดส่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อรายงานสหรัฐ

อาทิ ข้อมูลสถานภาพสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมในพื้นที่ทำการประมง และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง กฎระเบียบในประเทศ ข้อบังคับด้านการทำประมงเชิงพาณิชย์ ข้อมูลระบบทะเบียนและการอนุญาตทำการประมง หรือมาตรการที่เกี่ยวข้องในการลดการตายหรือลดการบาดเจ็บของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งเป็นสัตว์น้ำพลอยจับ (Bycatch) จากการทำประมง ฯลฯ

โดยสหรัฐจะมีการพิจารณาเทียบเคียงว่ามีการใช้มาตรการลดผลกระทบจากการทำประมงและมาตรการคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมที่เพียงพอตามข้อกำหนดเทียบเท่ากับระบบของสหรัฐ (Comparability findings) หรือไม่ หากประเมินแล้วพบว่าไม่เพียงพอหรือไม่เทียบเท่ากับระบบของสหรัฐ ประเทศเหล่านั้นจะไม่สามารถส่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังสหรัฐได้

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560-2562 ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมาย MMPA พร้อมจัดทำรายงานข้อมูลต่อสหรัฐ จำนวน 4 ครั้ง อย่างต่อเนื่องทุกปี และเมื่อปี 2563 คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ นำโดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ซึ่งกำกับดูแลด้านการประมงของประเทศทั้งระบบ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคประชาชน และมีการรายงานข้อมูลเพื่อเสนอต่อสหรัฐ

โดยล่าสุด ได้มีการพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนภายในระยะเวลาที่สหรัฐ กำหนด (30 พ.ย. 64) จึงได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 3 คณะ ได้แก่

​1) คณะอนุกรรมการป้องกัน แก้ไขปัญหา และประสานงานการปฏิบัติเกี่ยวกับผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นอนุกรรมการ และรองอธิบดีกรมประมง เป็นเลขานุการ ซึ่งมีหน้าที่ รวบรวมกลั่นกรองข้อมูล จัดทำแผนปฏิบัติการและมาตรการอนุรักษ์สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ประเมินทรัพยากรสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม เพื่อจัดทำข้อมูลรายงานเข้าระบบส่งไปยังสหรัฐ ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564

​2) คณะอนุกรรมการวิชาการเพื่อจัดทำข้อมูลสนับสนุนการแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานอนุกรรมการ มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน ร่วมเป็นอนุกรรมการ และรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นเลขานุการ มีหน้าที่ รวบรวมจัดทำข้อมูลสถานภาพ ชนิด จำนวนประชากร สถิติการตาย การเจ็บของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พร้อมจัดทำแผนป้องกันผลกระทบจากการทำการประมง พร้อมประเมินสถานภาพเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา

​3) คณะกรรมการเฉพาะกิจเจรจาแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม โดยมีเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เป็นประธานกรรมการ และรองอธิบดีกรมประมง เป็นเลขานุการ ทำหน้าที่ รวบรวมข้อมูลทุกประเด็น เพื่อใช้ในการเจรจา กำหนดท่าทีในการเจรจาแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม

ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้เร่งขับเคลื่อนการดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 3 คณะ เพื่อใช้โอกาสในช่วงระยะเวลาที่สหรัฐผ่อนผัน ในการติดตามประเมินสถานภาพสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม การวางระบบรวบรวมข้อมูลสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมจากการทำประมง การพัฒนากฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการที่เกี่ยวข้องในการลดการตายและการบาดเจ็บของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมจากการทำประมง เพื่อให้สอดรับกับกฎหมาย MMPA ของสหรัฐ

โดยเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการป้องกันฯ (ชุด 1) ซึ่งมีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานฯได้จัดการประชุมเพื่อวางกรอบแนวทางในการจัดทำข้อมูล และกำหนดจัดประชุมเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามการดำเนินงาน โดยทั้ง 3 คณะจะต้องประสานการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของประเทศไทย รวมถึงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชาวประมงและผู้ประกอบการด้วย รองอธิบดี กล่าว