“ศุภชัย เจียรวนนท์” ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจฟื้นประเทศ

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร CP
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร CP

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” หรือ CP องค์กรภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจหลากหลายยังออกมายอมรับว่าได้รับผลกระทบเกือบทุกสาขา ยกเว้นธุรกิจอาหารซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ แต่ ซี.พี.ยึดคติว่าในวิกฤตเป็นโอกาสสร้างความเข้มแข็ง การปรับตัวต้องทำทันที

“นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร CP บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” ในงานสัมมนา “สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” ที่จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงว่าในต่างประเทศอย่างอเมริกา ยุโรป เข้าระยะ 3 คือ การเริ่มฟื้นตัว ส่วนตอนนี้ประเทศไทยน่าจะพ้นระยะที่ 2 มาแล้วยังอยู่ในภาวะที่ยังไม่ใช่ระยะ 3 เพราะติดปัญหาเรื่องของวัคซีนว่าทำยังไงให้ฉีดได้ถึง 70-80% ของประชากรให้เร็วที่สุด

“โควิด-19 เครือ ซี.พี.กระทบทุกองค์กรแต่อาหารน่าจะกระทบน้อยที่สุด บริษัทปรับตัวเยอะมากและถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นปกติไปแล้ว เปลี่ยนแปลงกรอบความคิดว่าทุกอย่างไม่เหมือนเดิมแล้วเอาสถานการณ์มาเปลี่ยนให้เราเข้มแข็งขึ้น วิกฤตเป็นโอกาสทำให้เราเข้มแข็งขึ้น สิ่งแรกที่เราปรับเปลี่ยนเมื่อเจอกับสถานการณ์แบบนี้ คือ ต้องเซฟลูกค้า รักษาพนักงานและครอบครัวเขาให้ปลอดภัยพ้นวิกฤตได้ นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำทันที”

ในส่วนของค้าปลีกซึ่งในบางพื้นที่ต้องปิดเร็วตามมาตรการ และไม่มีนักท่องเที่ยวเราก็จำเป็นต้องปรับเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ เพราะไม่มีนโยบายปรับลดพนักงาน แต่โยกย้ายไปทำเรื่องใหม่ต้องไปสู่ออนไลน์ อีคอมเมิร์ซส่งถึงบ้าน

ธุรกิจโทรคมนาคมกระทบจากรายได้จากนักท่องเที่ยวหายไป 7-8% ขณะเดียวกันคนก็หันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีบวกมีลบ เราทำ “โซลูชั่นด้านซอฟต์แวร์” ช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อให้คนทำงานที่บ้าน เรียนหนังสือที่บ้าน หาหมอออนไลน์จากบ้าน ถือเป็นการปฏิรูปหรือทรานส์ฟอร์มเข้าสู่ยุคที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนมากขึ้น เรามีธุรกิจในหลายประเทศกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ธุรกิจทุกหน่วย

SMEs อยู่ไม่ได้ รายใหญ่อยู่รอด

“ผมมองว่าไม่ใช่ว่าเอสเอ็มอีไม่อยู่รอดแล้วรายใหญ่ไปรอด ถ้ามองว่าอุตสาหกรรมที่ได้ผลบวกจากโควิด-19 อย่างอีคอมเมิร์ซผู้เล่นที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงคือ ผู้เล่นระดับโลกอย่างลาซาด้า ช้อปปี้ อเมซอน อาลีบาบา ซึ่งกลับทำให้ค้าปลีกในประเทศโมเดิร์นเทรดทำงานหนักขึ้น หันไปออนไลน์มากขึ้น เป็นต้น”

“จริง ๆ ทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกกระทบหมด ยกเว้นธุรกิจออนไลน์อีคอมเมิร์ซ และ tech industry ที่เติบโตจากการที่คนใช้เทคโนโลยีมากขึ้น”

การช่วยเหลือสังคมของ ซี.พี.

เรามีความสามารถเรื่องการผลิตจึงได้มี “โครงการครัวปันอิ่ม” แจกอาหาร 1 ล้านกล่อง และให้ทุนสนับสนุนร้านอาหารขนาดเล็กอีก 1,000 กว่าร้านให้ทำอาหารแจกในชุมชนรวม 2 ล้านกล่อง ซึ่งจะทำต่อเนื่องไปอีก

ในเวลาเดียวกัน ก็ตั้งใจผลิตยาฟ้าทะลายโจรให้ได้ 30 ล้านแคปซูล ถึง 100 ล้านแคปซูล เป็นวิธีการป้องกันโควิด-19 และทำโรงพยาบาลสนาม 3 แห่ง เสร็จไปแล้ว 2 แห่ง ส่วนที่ 3 ทำ 600 เตียง รวมแล้วหากเสร็จทั้งหมดจะมี 1,200-1,300 เตียง ร่วมมือกับพันธมิตร WHA โรงพยาบาลต่าง ๆ

ลงทุนเพิ่มความสามารถแข่งขัน

“ความสามารถในการแข่งขันขึ้นอยู่กับตัวเราด้วย อย่างเช่น โควิดทำให้ ซี.พี.อ่อนแอ แต่การเปลี่ยนแปลงก็ทำให้แข็งแรงขึ้น ดังนั้น อยู่ที่ว่าไทยปรับตัวเร็วแค่ไหน และมองไปถึงโอกาสหลังโควิดเรามีอะไรเป็นจุดแข็ง”

ถ้ามองภาพตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหญ่มี 3 ตัว ถึงหายไป 1 ยังเหลืออีก 2 คือ ส่งออก และเกษตร ดังนั้น ถ้าเครื่องยนต์ตัวใหญ่ที่ดับไปเราจะหาอะไรมาทดแทน ชดเชย และเพิ่มศักยภาพ เดินหน้านโยบายการลุยอีอีซี (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) และเริ่มมีการผลักดัน SEC (เขตเศรษฐกิจภาคใต้) การสร้างแลนด์บริดจ์โลจิสติกส์ข้ามระหว่างมหาสมุทรเป็นเครื่องยนต์ใหม่

ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

“ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ” จะช่วยฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้โดยเร็ว ซึ่งต้องสร้างการลงทุนใหม่ทั้งรัฐและเอกชน สร้างกระบวนการให้เอกชนทั้งหมดปรับตัว รวมถึงดึงดูดการลงทุน เพราะถ้าเม็ดเงินเข้ามาในประเทศไม่เพียงจะทำให้เป็นศูนย์กลางช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วเท่านั้น

แต่สิ่งที่ตามมาด้วยคือบุคลากรและทรัพยากรทางด้านข้อมูล จะมาพร้อม ๆ กัน “asset ที่แท้จริงคือ ทรัพยากรบุคคลและข้อมูลเพื่อฟอร์มตัวเองให้พร้อมเข้าสู่ยุค 4.0”

“การดึงดูดการลงทุนอย่างเรื่องพร็อพเพอร์ตี้ที่จะให้ต่างประเทศลงทุน 1 ล้านเหรียญในอสังหาริมทรัพย์ ตอนนี้คนไทยซื้อบ้านที่ดินทรัพย์สินในอังกฤษ อเมริกาได้หมดแล้ว แต่เราต้องเสียภาษีให้ที่นั่น อย่างที่อังกฤษเขาจะใช้รูปแบบที่ว่าหากซื้อบ้านแล้วเราไปขายขาดทุน ถ้าเรากลับไปลงทุนใหม่จะสามารถนำส่วนที่ขาดทุนไปหักภาษีได้ เป็นต้น ซึ่งมันมีมาตรการหลายอย่างที่จะดึงดูดการลงทุน”

การพลิกฟื้นความเชื่อมั่นกลับมา

ในฐานะเอกชนพร้อมผนึกกำลังกัน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค “ดึงกันเป็นลูกโซ่” ขึ้นไปทั้งรายใหญ่รายเล็ก แต่ถ้าเราอาศัยอยู่บนเศรษฐกิจที่มีอยู่ แต่ไม่สร้างประโยชน์ให้กับระดับโลกหรือระดับภูมิภาคต่างประเทศ ต่อไปเขาจะเข้ามาแข่งขันในบ้านเรา

“ถ้าเราเป็นฝ่ายตั้งรับเราก็ไม่สามารถที่จะแข่งขันได้ การตั้งรับที่ดีที่สุดคือการรุก”

เราจะเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคเรื่องอะไรได้บ้าง เช่น ถ้าเรารู้ว่าหลังโควิดจะเข้าสู่ยุค 4.0 เราคิดจะเป็นฮับด้านอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ ด้านเทคโนโลยี ถ้าทำได้และจับมือไปกับมหาวิทยาลัยหลัก ๆ กลายเป็นยิงปืนนัดเดียวได้นกสามตัวคือ

1.ได้อุตสาหกรรม 4.0 จากต่างประเทศเข้ามาเพราะเขาเชื่อมั่น

2.ได้เป็นเซ็นเตอร์เป็นฮับด้านเทคโนโลยีในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

3.เรากลายเป็นเอดูเคชั่นฮับ (education hub)

ดังนั้น เทคโนโลยีคือระบบนิเวศที่สำคัญที่จะทำให้มันเปลี่ยนแปลงและเราจะก้าวไปเป็นระดับโลก และจะทำให้เกิดสตาร์ตอัพ

ผนึกกับแบงก์ใหญ่ตั้ง VC

เทคโนโลยีต้องมาดิสรัปต์ระบบเศรษฐกิจด้วยทั้ง 2.0 และ 3.0 มันต้องมาทดแทน ซึ่งเป็นที่น่าดีใจที่จากการสำรวจสตาร์ตอัพทั่วโลกพบว่าไทยคือ 1 ใน 3 ประเทศที่เขาอยากเข้ามาตั้งบริษัท แต่ระบบนิเวศด้านภาษีของเรายังไม่เอื้อ แม้ในไทยการตั้งกองทุน (VC) สตาร์ตอัพขึ้นมาแต่ระบบการเก็บภาษี การขาดทุนต่าง ๆ ยังไม่เอื้อ ถ้าไทยปรับเปลี่ยนระบบจะทำให้การลงทุนเข้ามามากกว่านี้

ถ้าต้องลงทุนไปด้วยและได้รีเทิร์นด้วยจะดีแค่ไหน และยังเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจจะทำให้เรามีโอกาสมากขึ้น เท่ากับประเทศมีโอกาสมากขึ้น เพราะเราก็มีสิทธิประโยชน์ว่าจะทำอย่างไรให้เขาเข้ามาลงทุนเพราะเรามีทุนให้ แต่เอกชนจะเดินคนเดียวไม่ได้ต้องผนึกกำลังกับทางภาครัฐเพื่อให้ประเทศไทยเป็นฮับเรื่องนี้ให้ได้

คำแนะนำสำหรับ SMEs

สุดท้าย “นายศุภชัย” แนะนำเอสเอ็มอีปรับตัว โดยจะต้องมองตลาด อย่างปีที่แล้วไทยส่งออกผลไม้ไปจีนแสนล้านบาท คัดเกรดแบบตามมีตามเกิดแค่ 2% ที่พอจะส่งออกได้ ที่เหลือเสียหายเต็มไปหมด แล้วถ้าไทยทำเรื่องผลิตภัณฑ์ผลไม้ต่อยอดไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มการสร้างมาตรฐาน การสร้างแบรนด์ปฏิรูประบบเกษตร ซึ่งถ้า SMEs มองว่าตลาดนี้จะยิ่งใหญ่เศรษฐกิจจีนก็โตขึ้นเรื่อย ๆ มีมูลค่าถึง 15 ล้านล้านเหรียญภายในไม่เกิน 5 ปี อาจแซงอเมริกา

และอินเดียมีประชากร 1,300 คน อีกไม่เกิน 5 ปีประชากรอินเดียอาจจะแซงจีน เศรษฐกิจอินเดียน่าจะใหญ่เป็นอันดับ 5 หรือ 6 ของโลก มูลค่า 2 ล้านล้านเหรียญ ส่วนอาเซียน 7 ประเทศรวมกันมูลค่าเศรษฐกิจเท่ากับอินเดีย

“หากเรามองโอกาสจากตลาดที่มีขนาดเศรษฐกิจโตขึ้นเรื่อย ๆ ปรับตัวให้เข้ากับตลาดนั้น โดยดูว่ามีจุดแข็งเรื่องอะไร มีศักยภาพตรงไหน ควรจะปรับตัวอย่างไร ทรานส์ฟอร์มตัวเอง อัพสกิล-รีสกิลคนเก่า มองว่าข้อดีของธุรกิจ SMEs คือสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าธุรกิจใหญ่ได้หลายเท่า และ SMEs ไม่ต้องไปเริ่มต้นจากศูนย์เหมือนสตาร์ตอัพด้วย”