ทุนยักษ์พลิกโมเดลธุรกิจ ก้าวข้ามโควิด-ยึดน่านน้ำใหม่

ยักษ์ธุรกิจเคลื่อนทัพใหญ่ ลุยจับมือพันธมิตรขยายลงทุน ปรับโมเดลสร้างเครือข่ายข้ามสายพันธุ์ ปตท.ลุยธุรกิจใหม่ 7 แสนล้าน ยา-รถอีวี-โลจิสติกส์ “ไทยเบฟ” ปลดล็อกขีดจำกัด ยกเครื่องโลจิสติกส์ปูทางสู่โลกอีวี ยักษ์พลังงาน “กัลฟ์” สปีดลงทุนธุรกิจดิจิทัล หลังถือหุ้นใหญ่ “อินทัช” รุกร่วมทุน “สิงเทล” บุกธุรกิจ “ดาต้าเซ็นเตอร์” ผงาดภูมิภาคเอเชีย “เอไอเอส-แสนสิริ” โดดเข้าสู่สมรภูมิการเงินดิจิทัล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ประเทศไทยและทั้งโลกตกอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลธุรกิจจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่สถานการณ์โรคระบาดที่ยืดเยื้อทำให้ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนต้องปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19

โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ถือว่ามีศักยภาพทั้งด้านเงินทุนและความสามารถ ฉวยจังหวะที่ภูมิทัศน์เศรษฐกิจเปลี่ยน เดินหน้าขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจตอบโจทย์กับโลกอนาคต

ปตท.ปักธงลุยน่านน้ำใหม่

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวบนเวทีสัมมนา “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าธุรกิจจะชะลอตัวจากการระบาดของโควิด-19 แต่ไม่ได้ส่งผลให้ ปตท.หยุดพัฒนา หรือหยุดการลงทุน

เนื่องจากเรื่องของพลังงานมีความผันผวนสูง และกำลังมีพลังงานใหม่ ๆ อย่างไฟฟ้า ที่ถือว่าเป็นพลังงานสะอาดเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมัน ธุรกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกมาก เหตุผลสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็ว

จากแนวโน้มดังกล่าว เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ปตท.ได้ประกาศเปลี่ยนวิสัยทัศน์องค์กร เป็น Powering Life with Future Energy and beyond เป็นการขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งอนาคต และ Beyond คือการเริ่มออกไปทำธุรกิจนอกเหนือจากพลังงานมากขึ้น อย่างเช่น กลุ่มธุรกิจยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหารแห่งอนาคต

รวมถึงการขยายลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ ปตท.ได้มีการตั้งบริษัทร่วมทุนกับฟ็อกซ์คอนน์ เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถอีวีในประเทศไทย รับจ้างผลิตรถอีวีให้กับแบรนด์ต่าง ๆ การขยายสู่ธุรกิจโลจิสติกส์และระบบราง

นายอรรถพลระบุว่า การลงทุนของ ปตท.ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเป็นการลงทุนด้านพลังงาน ประมาณ 860,000 ล้านบาท และเตรียมเงินสำหรับการลงทุนในกิจการอื่น ๆ อีกกว่า 700,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1.7-1.8 ล้านล้านบาท ที่พร้อมลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งแนวทางการลงทุนของ ปตท.ก็สอดรับกับนโยบายลงทุน new S-curve ของประเทศ

เพราะ ปตท.ต้องทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ โดยวางเป้าหมายว่า ในปี 2030 ธุรกิจใหม่ ๆ ของ ปตท.จะทำรายได้เป็นสัดส่วนถึง 30% ซึ่งฐานธุรกิจเดิมของ ปตท.ใหญ่มาก หมายความว่าธุรกิจใหม่จะต้องมีการเร่งสปีดมาก

SCG ชู 4 เมกะเทรนด์

สำหรับ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มดีขึ้นไม่ได้หมายความว่าการระบาดจะหายไป แต่ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิด โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ในส่วนของ SCG มองเห็นโอกาสจาก 4 เทรนด์ที่จะปรับเปลี่ยนหลังโควิด 1.automation การนำระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์มาใช้แทนแรงงานคน

2.e-Commerce การสร้างแพลตฟอร์มให้สอดรับความต้องการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า 3.smart farming นำเทคโนโลยีมาใช้ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มในภาคเกษตร

4.green construction เป็นการก่อสร้างแบบยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยี BIM (building information modeling) ทั้งออกแบบก่อสร้าง จำลองกระบวนการก่อสร้าง จัดการจราจร ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

“แพลตฟอร์มที่ดีคือการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้มีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาการทำงานและการให้บริการมีมูลค่าเกิดขึ้น แพลตฟอร์มจึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า อีโคซิสเต็มสามารถเกิดขึ้นได้”

ก่อนหน้านี้ นายรุ่งโรจน์ระบุว่า ทิศทางธุรกิจในอนาคตของ SCG จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง จากปัจจุบันมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด เพิ่มเป็น 50% ภายใน 3-5 ปี เน้นสินค้าตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยลงทุนเรื่อง R&D เร่งธุรกิจเข้าสู่เทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่เติบโตสูง รุกเข้าสู่ธุรกิจระบบอัตโนมัติเพื่อนำเสนอโซลูชั่นด้านออโตเมชั่นแก่ลูกค้า ช่วยพัฒนาขีดความสามารถและยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่โรงงานอัจฉริยะ ทำให้ SCG เติบโตต่อเนื่องแม้เศรษฐกิจชะลอตัว

ขณะเดียวกันในวิกฤตก็มองเห็นโอกาส เห็นความต้องการและการเติบโตของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การใช้ชีวิต ที่อยู่อาศัย

“ศุภชัย” วิกฤตทำให้เข้มแข็ง

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (C.P.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิดกระทบทุกองค์กร แต่ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารกระทบน้อยที่สุด สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องทำคือการปรับตัวเยอะมากจนถึงกับเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

เพื่อให้มีโอกาสมากขึ้น ต้องปรับการทำงานหนักขึ้น เพราะหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม วิกฤตเป็นโอกาส ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น และต้องปรับตัวทันที

“สิ่งที่เราปรับเปลี่ยนเวลาเจอสถานการณ์แบบนี้ ก่อนอื่นต้องเซฟลูกค้า รักษาพนักงาน และครอบครัวอย่างไรให้พ้นวิกฤตได้ อันนี้ต้องทำทันที โอเปอเรชั่นเรื่องอาหาร ต้องมีการกักตัว หรือกระบวนการทำให้พนักงานในโรงงานไม่ติดโควิด ต้องอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัยจากโควิด เป็นต้น

กรณีค้าปลีกต้องปรับเปลี่ยน บางพื้นที่ปิดเร็วไม่มีนักท่องเที่ยวก็ต้องปรับ เพราะไม่มีนโยบายปรับลดพนักงาน แต่โยกไปทำเรื่องใหม่ ต้องไปออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ ส่งถึงบ้าน”

ส่วนธุรกิจโทรคมนาคมก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากรายได้กลุ่มนักท่องเที่ยวหายไป 7-8% แต่คนก็หันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีบวกมีลบ ก็ทำโซลูชั่นซอฟต์แวร์ให้คนทำงานที่บ้าน เรียนหนังสือที่บ้าน หาหมอออนไลน์ โซลูชั่นซอฟต์แวร์ช่วยแก้ไขปัญหาธุรกิจ เป็นการปฏิรูปหรือทรานส์ฟอร์มเข้าสู่ยุคที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนมากขึ้น เพราะวิถีชีวิต วิถีธุรกิจเปลี่ยนไป

ซี.พี.สยายปีกลงทุน 360 องศา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเครือ C.P. ปัจจุบันถือว่ามีเครือข่ายธุรกิจครบวงจร อาทิ ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ธุรกิจค้าปลีก โทรคมนาคม อีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัล

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ ธุรกิจการเงินและการธนาคาร ที่ผ่านมามีการขยายอาณาจักรธุรกิจต่อเนื่อง นอกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยได้สัมปทานก่อสร้างและบริหาร รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

และล่าสุดเพิ่งจับมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จัดตั้งกองทุน Venture Capital มูลค่า 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพทั่วโลก

ไทยเบฟฯปลดล็อกขีดจำกัด

ขณะที่นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดวิกฤตขึ้นในหลายธุรกิจ ผู้ประกอบการหลายภาคส่วนต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ ท่ามกลางสถานการณ์โควิดไม่ได้หายไป

หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของวิชั่น ปี 2025 คือ การปลดล็อกศักยภาพทางธุรกิจไทยเบฟฯ หรือ Unlock the Value ทั้งกลุ่มสินค้า บุคลากร อสังหาริมทรัพย์ และพันธมิตร เพื่อสร้างคุณค่าและผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นมากขึ้น

ล่าสุดคือการจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ แยกกลุ่มธุรกิจเบียร์ออกมาอยู่ภายใต้บริษัทเบียร์โค (BeerCo) เพื่อเตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

ปูทางการลงทุนสู่โลกอีวี

นายฐาปนกล่าวว่า บริษัทยังมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการ “ปลดล็อก” ธุรกิจโลจิสติกส์และการกระจายสินค้า เพื่อต่อยอดการเติบโตของกลุ่ม โดยจะมีการพิจารณาสินทรัพย์ทั้งคลังสินค้า และหน่วยรถที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งก็จะต้องมองเรื่องข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ต้องนำมาปรับใช้

ไม่ว่าเรื่องตัวรถอีวีที่จะนำมาใช้ รอบการขนส่ง หรือแม้กระทั่งระยะเวลาการวิ่ง และสถานีชาร์จไฟ ที่จะต้องวางแผนให้ครอบคลุมในการต่อยอดลุยธุรกิจดังกล่าว โดยจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ของซัพพลายเชนทั้งระบบ ซึ่งอาจเกิดทั้งรูปแบบของการจับมือพันธมิตร นำเข้า เป็นต้น

โดยเบื้องต้นในปี 2565 จะเป็นช่วงของการศึกษาตลาด เพื่อมองหาคีย์สำคัญในทิศทางการดำเนินธุรกิจ ก่อนที่ในปี 2566 จะเป็นปีของการเริ่มลงทุน และภาพจะชัดเจนในปี 2568 และหากถึงเวลานั้น บริษัทก็ต้องกลับมามองว่าประเทศไทยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วหรือยัง หรือหากยังไม่มีการผลิตอาจจะต้องพิจารณานำเข้าแทน

“เมื่อถึงเวลานั้นจริงในการลงทุนเรื่องของธุรกิจ EV ที่ต่อยอดออกไปอาจมองไกลทั้งระบบ ซึ่งต้องมีการนำกรอบภาษีนำเข้าจะเป็นอย่างไร มาตรการต่าง ๆ จากภาครัฐ หรือแม้กระทั่งว่าประเทศไทยมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากน้อยเพียงใด

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องราวที่สัมพันธ์กัน เป็นต้นทุนของการประกอบธุรกิจการค้า แต่เป็นเรื่องดี ๆ มีสินค้าที่ดี บริการถูกใจ และสุดท้ายทำประโยชน์อะไรให้กับโลกใบนี้ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องถามอยู่แล้วหากจะเกิดธุรกิจดังกล่าวขึ้น”

กัลฟ์ฯเร่งสปีดธุรกิจดิจิทัล

ด้าน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ GULF ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจผลิตไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคที่มี นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ปีนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

จากการกระโดดเข้าไปลงทุนใน บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง หรือ INTUCH ผู้นำในธุรกิจสื่อสารและดิจิทัล โดยปัจจุบัน GULF กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของอินทัช ด้วยสัดส่วน 42.25% ขณะที่กลุ่มสิงเทล ตกเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 สัดส่วน 21.21%

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ บริษัท สิงคโปร์ เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด (สิงเทล) เพื่อศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย

โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมทุนจัดตั้งธุรกิจศูนย์ข้อมูลในสัดส่วน 50:50 เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลจากการที่เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น

โดยเป็นการผนึกความแข็งแกร่งของ 2 บริษัท โดย GULF มีประสบการณ์ในธุรกิจผลิตไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ Singtel มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจศูนย์ข้อมูลที่มีคุณภาพสูง พร้อมฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งและหลากหลายทั่วโลก

ทั้งยังเปิดโอกาสให้บริษัทขยายธุรกิจศูนย์ข้อมูลร่วมกับ Singtel ไปในภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคอื่น ๆ ในอนาคต

AIS บุกสนามปล่อยกู้ดิจิทัล

ขณะที่ในซีกของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ก็มีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในการร่วมทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์ จัดตั้งบริษัท “AISCB” เพื่อเข้าสู่ธุรกิจให้บริการสินเชื่อดิจิทัล โดยอาศัยฐานข้อมูลลูกค้าของเอไอเอสที่มีกว่า 40 ล้านคน

ทั้งนี้ ถือว่าเป็นการเข้าสู่ธุรกิจบริการทางการเงินเต็มรูปแบบของค่ายมือถือ ซึ่งจะทำให้สมรภูมิการแข่งขันการให้ปล่อยสินเชื่อดิจิทัลในปีหน้ามีความร้อนแรงมากขึ้น

โดยนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า การร่วมมือกับเอสซีบีถือเป็นครั้งแรกของไทยที่เบอร์ 1 จากสองอุตสาหกรรมหลักของประเทศ คือ Telco และสถาบันการเงินประกาศร่วมทุน

เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และอื่น ๆ ในอนาคตที่จะตอบโจทย์คนในวงกว้าง เป็นการเพิ่มทางเลือกให้คนไทยที่จะไม่ต้องไปพึ่งสินเชื่อนอกระบบ

SCB ทลายกำแพงแบงก์

ขณะที่ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้ปรับโครงสร้างครั้งสำคัญเพื่อทรานส์ฟอร์มธุรกิจ โดยนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร เปิดเผยถึงแผนปรับโครงสร้างธุรกิจในการจัดตั้งบริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เป็นบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อพาให้กลุ่มไทยพาณิชย์ก้าวสู่โลกใหม่ที่ไม่จำกัดอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป

“ที่ผ่านมาเราพบว่าการทรานส์ฟอร์มที่อยู่บนโครงสร้างธนาคารมีข้อจำกัด ทำให้ศักยภาพของทั้งกรุ๊ปทำได้ไม่เต็มที่ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง SCBX ขึ้นมาเป็นยานแม่”

นายอาทิตย์กล่าวว่า วิสัยทัศน์ใน 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2568 ของกลุ่มไทยพาณิชย์ คือ ก้าวสู่การเป็น “กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค”

โดยความร่วมมือกับพันธมิตรในการขยายธุรกิจ และการปรับโครงสร้างธุรกิจที่จะมีการแตกบริษัทย่อยออกมา 15-16 บริษัท เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจและการแข่งขัน โดยแต่ละธุรกิจ SCB จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศและระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง พร้อมกับการผลักดันบริษัทต่าง ๆ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป

แสนสิริร่วมสินทรัพย์ดิจิทัล

ขณะที่บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบรนด์ดัง หลังจากทุ่มเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท เข้าไปถือหุ้นบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ “XSpring” กลุ่มธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ที่มีเป้าหมายก้าวขึ้นเป็น “digital financial service” เชื่อมโลกการเงินปัจจุบันและโลกดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกัน

นอกจากนี้ ยังได้มีการร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด (XSpring AMC) เพื่อทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์

และเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่ระดมทุนด้วยการออกเหรียญ “SIRIHUB” (สิริฮับ) โทเค็นดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) ที่มีอสังหาริมทรัพย์อ้างอิงวงเงิน 2,400 ล้านบาท โดยใช้อาคารสิริ แคมปัส เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน โดยมีบริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด ในเครือ XSpring ที่ทำหน้าที่ ICO Portal