มนัญญา สั่งยกเครื่องสหกรณ์ สร้างธุรกิจสะพัด 2.23 ล้านล้านบาท 

รมช.มนัญญา ลุยนโยบายพัฒนาระบบสหกรณ์ มุ่งสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สมาชิก กระตุ้นรายได้ 7 ประเภทสหกรณ์ ทั้งในและนอกภาคเกษตร จากธุรกิจในระบบสหกรณ์รวมกว่า 2.23 ล้านล้านบาท 

วันที่ 1 ตุลาคม 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวหลังเป็นประธานและมอบนโยบายในการทำงานเพื่อพัฒนาสหกรณ์ ว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  กรมส่งเสริมสหกรณ์สามารถสนองงานเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องสำคัญ ๆ ได้หลายเรื่อง ได้รับการยอมรับในระดับกระทรวงและระดับรัฐบาล  ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีที่มีการนำสหกรณ์มาเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ และเป็นกลไกพัฒนาภาคการเกษตรไทย โดยสนับสนุนให้สหกรณ์มีความเข้มแข็ง ผ่านโครงการ เช่น โครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ซึ่งได้ดำเนินการขับเคลื่อนพัฒนาร้านค้าสหกรณ์ให้เป็นจุดจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีคุณภาพจากจังหวัดต่าง ๆ อาทิ ข้าวสาร นม ไข่ไก่ เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป ผักและผลไม้ เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าสหกรณ์ได้มากขึ้น 

โครงการส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกปลูกพืช/ผัก เพื่อสร้างทางเลือกที่มีศักยภาพและตลาดรองรับ ช่วยสร้างรายได้เสริมเพิ่มเติมจากอาชีพหลัก เน้นการผลิตพืชผักปลอดภัยได้มาตรฐาน GAP และ GMP รวมทั้งการแปรรูปผลผลิตให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค รวมไปถึงโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร เพื่อสนับสนุนให้ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์หรือบุคคลทั่วไปที่จากบ้านไปประกอบอาชีพ ในกรุงเทพฯ หรือในต่างจังหวัด กลับมาทำการเกษตรที่บ้านเกิด โดยสนับสนุนการรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าการเกษตรเพื่อเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว โดยมีสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่คอยเป็นพี่เลี้ยง ตลอดจนการจัดหาตลาดรองรับ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งโครงการที่เริ่มดำเนินการขับเคลื่อนในปีงบประมาณ 2564 คือ โครงการส่งเสริมการผลิตฟ้าทะลายโจรในสถาบันเกษตรกร ส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจรให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายการขยายพื้นที่ปลูกฟ้าทะลายโจร เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบในกระบวนการแปรรูปเข้าสู่ตลาดที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรสมาชิกของสหกรณ์ โดยได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร ผลักดันและส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรเพิ่มขึ้น เกิดความสมดุลทางการตลาด รวมทั้งเพื่อสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับสมาชิกและเกษตรกร  ในการต่อยอดการพัฒนาธุรกิจของสหกรณ์อีกด้วย 

“ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นี้ ขอให้ทุกคนช่วยกันทำงาน เพื่อยกระดับสหกรณ์ให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องการทำงานเชิงการพัฒนา การส่งเสริมด้านธุรกิจและกำกับดูแลตรวจการสหกรณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้เน้นย้ำเรื่องการดำเนินงานของสหกรณ์ให้มุ่งเน้นการแบ่งปันกำไรคืนสู่สมาชิก เนื่องจากสหกรณ์เป็นของสมาชิกทุกคน เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่เกิดจากการดำเนินงานของสหกรณ์ควรจะต้องย้อนกลับไปหาสมาชิกสหกรณ์ให้มากที่สุด และเรื่องการผลิตสินค้าปลอดภัย และมีคุณภาพ และช่วยกันในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนอยู่ดี กินดีมีสุข อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” 

สำหรับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ถือเป็นหน่วยงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2515  มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน แนะนำ กำกับ และดูแลระบบสหกรณ์ของประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ “การสหกรณ์มั่นคง สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้มแข็ง เศรษฐกิจและสังคมของชุมชนยั่งยืน” 

ปัจจุบันประเทศไทย มีจำนวนสหกรณ์ 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนและสหกรณ์ออมทรัพย์ รวม 7,873 แห่งทั่วประเทศ สมาชิกรวม 11.43 ล้านคน แบ่งเป็น สหกรณ์ในภาคเกษตร 4,329 แห่ง สมาชิก 6.3 ล้านคน สหกรณ์นอกภาคเกษตร 3,544 แห่ง สมาชิก 5.037 ล้านคน มีปริมาณธุรกิจในระบบสหกรณ์รวมกว่า 2.23 ล้านล้านบาท และมีกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในการกำกับดูแลอีก 4,503 แห่ง สมาชิก 4.2 แสนคน ปริมาณธุรกิจกว่า 5,207 ล้านบาท 

ทั้งนี้ สหกรณ์เป็นหนึ่งในสถาบันเกษตรกรที่มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพของสมาชิก ซึ่งมีหน้าที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็ง ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในภาวะวิกฤติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่และภารกิจของบุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่จะต้องเข้าไปขับเคลื่อน ผลักดัน สร้างความรู้แก่สหกรณ์อย่างรอบด้าน ทั้งด้านการผลิต การบริหารธุรกิจ การตลาดและนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการยกระดับการดำเนินงานของสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เป็นองค์กรที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้สมาชิกได้อย่างแท้จริง