7 เขตกรุงเทพฯ จังหวัดริมฝั่งเจ้าพระยารับสถานการณ์น้ำท่วม หลังน้ำเหนือหลากผ่าน บางไทร เต็มลำน้ำที่ 3,000 ลบ.ม/วินาที แต่ต้องรออีก 1 อาทิตย์ หากไม่มีพายุเข้ามาอีกน้ำถึงลดลง เหตุเป็นเดือนน้ำทะเลหนุนสูง
วันที่ 2 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำอันเนื่องมาจากพายุ “เตี้ยนหมู่” แม้จะสลายตัวไปในอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่ฝนที่ตกหนักถึงหนักมากทำให้น้ำไหลหลากลงมาสู่ลำน้ำสำคัญ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม่น้ำเจ้าพระยา เหนือจังหวัดชัยนาทขึ้นไป
ล่าสุด ณ วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ปรากฏปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C2 นครสวรรค์ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2,666 ลบ.ม/วินาที มาถึง สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยาที่ 2,784 ลบ.ม/วินาที
สาเหตุที่ปริมาณเพิ่มขึ้น เพราะมีน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังปริมาณไหลผ่าน 392 ลบ.ม/วินาทีเข้ามาสมทบ
ด้าน กรมชลประทาน ได้ตัดยอดน้ำก่อนที่จะถึงเขื่อนเจ้าพระยา ด้วยการระบายน้ำผ่านคลองฝั่งตะวันตก-ออกคิดเป็นปริมาณรวมกัน 376 ลบ.ม ทำให้น้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนลดลง
อย่างก็ตาม เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้ได้เก็บกักน้ำจนเต็มความจุอ่างแล้ว (107%) จึงมีความจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออกจนมีปริมาณน้ำไหลผ่านที่ 1,207 ลบ.ม/วินาที (สถานี S28) และน้ำมาถึงเขื่อนพระราม 6 (สถานี S26) ด้วยปริมาณ 740 ลบ.ม/วินาที ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันออกบริเวณ จังหวัดลพบุรี-สระบุรี
ปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลทำให้น้ำไหลผ่านสถานี C29A บางไทร เหนือกรุงเทพฯ และปริมณฑลในขณะนี้อยู่ที่ 2,950 ลบ.ม/วินาทีแล้ว
ซึ่งใกล้เคียงกับการคาดการณ์ตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 16/2564 เรื่องให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไว้ที่ 2,700 ลบ.ม/วินาที เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบายน้ำอยู่ระหว่าง 900-2,700 ลบ.ม/วินาที และ สถานีบางไทร ระหว่าง 3,000-3,200 ลบ.ม./วินาที
ด้วยปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลกระทบกับพื้นที่จังหวัดที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาจะเกิดน้ำท่วมและน้ำล้นตลิ่งเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ
ในส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทางกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศให้ 239 ขุมชนใน 7 เขต (ดุสิต-พระนคร-สัมพันธ์วงศ์-บางคอแหลม-ยานนาวา-บางกอกน้อย-คลองสาน) ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมสูงสุด
ด้าน นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ หรือ “ทีมกรุ๊ป” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ให้ความเห็นถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า
น้ำจากในทุ่งที่อยู่ระหว่างจังหวัดสุโขทัย ทุ่งบางระกำ กำลังลงมาถึงจังหวัดพิจิตร-นครสวรรค์ และทยอยไหลลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้นเรื่อย ๆ
ส่งผลจึงทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงจากนครสวรรค์ ถึงชัยนาท เพิ่มขึ้น คาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งน้ำจึงจะเริ่มลดระดับลงมา
ดังนั้นการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยายังจะคงอยู่ในอัตราสูงสูงตัวแบบนี้ไปอีกระยะหนึ่ง
ส่วนอ่างเก็บน้ำ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันเต็มแล้ว (1,027 ล้าน ลบ.ม หรือคิดเป็น 107%) โดยตั้งแต่ก่อนอ่างเต็มก็ได้ทยอยปล่อยน้ำเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 กันยายนจันทร์ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 26 ระบายเพิ่มเป็น 34.6 ลบ.ม.วินาที
และวันที่ 29 ก.ย. เพิ่มเป็น 51.9 ลบ.ม/วินาที และจะต้องระบายน้ำมากขึ้น (ล่าสุดระบายออกระหว่าง 103-104 ลบ.ม./วินาที)
บวกกับน้ำในทุ่งนาที่ลุ่มต่ำต่าง ๆ ที่ทยอยไหลลงมา ส่งผลทำให้น้ำที่ไหลผ่านสถานีบางไทร ยังทรงตัวอยู่ในอัตรา 3,000 ลบ.ม/วินาที ไปประมาณ 1 สัปดาห์ ถึงจะค่อย ๆ ลดระดับลงอย่างช้า ๆ
โดยสาเหตุที่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเดือนตุลาคมระบายน้ำลงลดระดับลงได้ช้านั้นเป็นเพราะกำลังเข้าสู่เดือนที่น้ำทะเลหนุนสูง แต่ช่วงเวลาที่น้ำทะเลลดลงต่ำนั้น
“ไม่ได้ต่ำมากจริง ๆ เหมือนในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้การระบายน้ำช้าตลอดทั้งเดือนตุลาคม” นายชวลิตกล่าว