ตั้ง “ศูนย์ส่วนหน้าบริหารจัดการลุ่มน้ำชี-มูล” พร้อมเฝ้าระวัง 3 จว.ริมเจ้าพระยา

กรมชลประทานสั่งด่วนตั้งศูนย์ส่วนหน้า เตรียมพร้อมบริหารจัดการลุ่มน้ำชี-มูลอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเฝ้าระวังเจ้าพระยาตอนล่าง รับลูก กอนช.เตือนระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น 30-50 ซม. เขตกรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี เสี่ยงวันที่ 7-10 ตุลาคม 2564

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้ออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) สำนักงานชลประทานที่ 7 เพื่อดำเนินงานแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล และการบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2564 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

มีการบูรณาการและเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ โดยได้มอบหมายให้ ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมด้วยนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล ร่วมบูรณาการควบคู่ไปกับผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดลุ่มน้ำชี-มูล

ซึ่งเป็นไปตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ออกประกาศฉบับที่ 17/2564 เรื่องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในลำน้ำชีล้นตลิ่ง จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น “เตี้ยนหมู่” และแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 24-25 กันยายน 2564 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำชี และมีโอกาสเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชีในจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และศรีสะเกษ ช่วงวันที่ 4-15 ตุลาคม 2564 นี้

“กรมชลประทานจึงได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือ แก้ไขและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินและวิเคราะห์แนวโน้มของสถานการณ์

Advertisment

รวมทั้งแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะสามารถสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัย และแนวทางในการลดผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมกำหนดแนวทางปฏิบัติงานเชิงบูรณาการในการแก้ไขและการให้ความช่วยเหลือ วิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินความต้องการและความจำเป็นเพื่อจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักร-เครื่องมือในการบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย

รวมไปถึงการจัดทำรายงานสถานการณ์น้ำ ผลการดำเนินการแก้ไข บรรเทา และการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด ตามข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ที่ได้มีความห่วงใยและให้ความสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในทุก ๆ พื้นที่

Advertisment

ทั้งนี้ อิทธิพลของพายุโชนร้อน “เตี้ยนหมู่” ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 23-25 กันยายน 2564 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกเป็นวงกว้าง ประกอบกับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากบางแห่ง ทำให้มีปริมาณน้ำท่าจากลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามากขึ้น ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่

ทางกรมชลประทานได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 19/2564 ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,775-2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564 ปริมาณน้ำหลากสูงสุดจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ไหลผ่านเขื่อนพระราม 6 ในอัตรา 762 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

คาดว่าในวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ปริมาณน้ำจะไหลหลากมารวมกันผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเกณฑ์สูงสุด 3,050 – 3,150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะไหลออกสู่อ่าวไทยในช่วงวันที่ 7-10 ตุลาคม 2564 ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 30-50 เชนติเมตร

โดยมีพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่

1) จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนนทบุรี บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

2) กรุงเทพมหานคร บริเวณพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบให้ระดับน้ำล้นคันป้องกันน้ำริมแม่น้ำของกรุงเทพมหานคร ยกเว้นบริเวณที่ไม่มีระบบคันป้องกันริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ จับตาเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และหมั่นตรวจสอบความมั่นคงของอาคารป้องกันน้ำริมแม่น้ำ พร้อมเสริมคันกั้นน้ำบริเวณจุดเสี่ยงที่มีระดับคันป้องกันน้ำต่ำ และบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมน้ำให้รับทราบล่วงหน้า จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง พร้อมให้ความช่วยเหลือและปฏิบัติงานได้ทันที เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้มากที่สุด

หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา