“คณิศ” ชี้อีก 5 ปีเห็นอีอีซีชัด! หวังจีน-ญี่ปุ่น ลงทุน ถ่ายทอดเทคโนโลยี

วันที่ 20 กรกฎาคม 2560 เวลา 09.30 น. ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เชื่อมโยงกรอบการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนของ EEC เข้ากับแนวคิดประเทศไทย 4.0 (Linking EEC’s Sustainable Trade & Development Framework within Thailand 4.0) ในการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2560 ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์

ดร.คณิศกล่าวว่า จากการประชุมเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่า ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกามีการนำเอานโยบายกีดกันการค้ามาใช้ ทำให้เกิดการขัดแย้งกันของโลกการค้าเสรี หรือแม้กระทั่งกรณีเบร็กซิตของสหราชอาณาจักร ทำให้เราเองก็ต้องระวังและปรับตัวมากขึ้น

“แนวนโยบายดังกล่าวของสหรัฐเรียกได้ว่าเป็นลัทธิทางเศรษฐกิจแบบหนึ่งที่กำลังขยายตัว ทำให้ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้ต้องจับตาดูว่าอีกหนึ่งประเทศที่มีบทบาทในโลกอย่างจีนจะดำเนินการอย่างไร”

นอกจากนี้ จากบทเรียนวิกฤตทางเศรษฐกิจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำให้ทุกอย่างถอยหลัง และอาเซียนต้องหันมาพึ่งพากันทางเศรษฐกิจมากขึ้น และต้องดูไปว่าเราจะฟื้นฟูและก้าวข้ามพรมแดนไปสู่โลกตะวันตกและส่วนอื่นๆ ของโลกอย่างไร ทั้งในเรื่องการจัดการธุรกิจ หรือการนำเอาดิจิทัลมาใช้

ดร.คณิตกล่าวอีกว่า หากเราดูข่าวในตอนเช้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการค้า การลงทุนต่างๆ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจนั้นต้องเกิดจากการร่วมมือกัน เศรษฐกิจโลกต้องดำเนินไปเช่นนี้ มีการพูดคุยกันให้เกิดความเข้าใจ มีการสร้างเครือข่ายของการผลิต ความร่วมมือต้องข้ามพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดิจิทัล หรืออีคอมเมิร์ซ

“โดยทั่วไปแล้วการค้าเสรีถือได้ว่าเป็นแกนของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างญี่ปุ่นช่วงที่มีการพัฒนาการค้าใหม่ก็มีการพัฒนาท่าเรือขึ้นใหม่ หรือย่างจีนก็มีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งพบว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศคิดเป็น 50% ของจีดีพีเลยทีเดียว”

สำหรับประเทศไทย เราก็กำลังสร้างระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก ซึ่งถือเป็นการร่วมมือการค้าและการพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาบุคลากรไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับ S-curve ใหม่ที่ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย

ดร.คณิตกล่าวว่า เอเชียถือเป็นส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะจีน อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น และอาเซียน ซึ่งประเทศไทยนั้นอยู่ตรงกลางของภูมิภาค เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค เราจึงพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ขึ้นมาเพื่อเป็นเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นประตูสู่เอเชีย โดยเรามีการพัฒนามา 30 ปีแล้ว มีการลงทุนมากมาย ทั้งโรงงาน ท่าเรือ สนามบิน รวมถึงยังมีมาตรการลดภาษีให้กับนักลงทุน จึงเรียกได้ว่าจะเป็นจุดที่สามารถลงทุนได้ดีที่สุด

“คาดว่าเราน่าจะได้เห็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จทางเศรษฐกิจนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่ผ่านมาเราพยายามเข้าไปให้ถึงจุดอ่อนที่สุดก็คือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่จริงๆ แล้วโครงสร้างพื้นฐานก็คงไม่ใช่ทุกสิ่งที่เราต้องพูดถึง เพราะอีกส่วนที่เราต้องให้ความสำคัญก็คือการเอาการค้ากับการลงทุนมาเชื่อมต่อให้ได้”

นอกจากนี้ เรายังคำนึงไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยี เรามีการพูดคุยกับการบินไทยในเรื่องของการซ่อมบำรุงเครื่องบิน มีการพูดคุยกับอาลีบาบาในเรื่องดิจิทัล ขณะเดียวกัน อีกส่วนสำคัญก็คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่ถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด

ดร.คณิตกล่าวอีกว่า สำหรับอีอีซีเรามีงบประมาณกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลมาแล้ว 7 แสนล้านบาท ซึ่งมีการพัฒนาไปแล้วในเรื่องของสนามบินอู่ตะเภาที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่สามปีที่แล้ว เพื่อต้องการให้เชื่อมต่อกับสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง แต่ที่รัฐบาลยังไม่อนุมัติคือท่าเรือน้ำลึก ซึ่งก็ต้องรอรัฐบาลพิจารณาต่อไป

“สำหรับอีอีซีเรายังได้รับความร่วมมือจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่กำลังผลักดันให้เกิดดิจิทัลภาคในอีอีซี ซึ่งเราก็หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากจีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ที่จะเข้ามาในอีอีซีและถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้อื่นๆ ให้กับเรา”

สุดท้ายหากเราพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นเรื่องที่คนไทยจะต้องมีอาชีพที่ดีขึ้น อาศัยเทคโนยีในการสร้างอาชีพ ซึ่งไทยก็กำลังประเมินว่าตนเองกำลังอยู่จุดไหนกันแน่ และการจะขึ้นไปเป็น 4.0 นั้นจะทำได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจขณะนี้จะเป็นการทำให้ระบบโลกาภิวัตน์ถอยหลังกลับหรืออะไรก็ตาม แต่รัฐบาลกำลังพัฒนาให้อีอีซีเป็นจุดศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่อไปในอนาคต และสำหรับขอบเขตของการพัฒนาประเทศไทย การลงทุนอาจะไม่ใช่กุญแจสำคัญ แต่เป็นการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่สำคัญมากกว่า หรือมีสายพานการผลิตที่ดีขึ้น หรือการส่งเสริมความรู้