“เตี้ยนหมู่” จม “นาข้าว” 2 ล้านไร่ เกษตรกรอ่วม 3 แสนราย-กินเจผักแพง

ผักแพง

พื้นที่เกษตรจมน้ำ 4 แสนไร่ “นาข้าว” สูญสูงสุดเฉียด 2.8 ล้านไร่ “เกษตร” อัดมาตรการช่วยเหลือ 3.5 แสนครอบครัววิกฤต ด้านสภาเกษตรฯแนะยกโมเดลปี’54 ประสานงานเยียวยาผลกระทบ แก้ให้ตรงจุด ด้านพาณิชย์เร่งเชื่อมโยงตลาดแก้ปัญหาโลจิสติกส์ส่งสินค้าขาดตลาด-พ่อค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาช่วงกินเจ

แหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์พายุลูกใหม่ (ไลออนร็อก) น่าจะขึ้นฝั่งหลังวันที่ 11 ตุลาคม 2564 โดยเบื้องต้นน่าจะกระทบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากพายุเตี้ยนหมู่ไปก่อนแล้ว

จากการสำรวจพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบล่าสุดวันที่ 3 ตุลาคม 2564 มีพื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหายใน 42 จังหวัด คิดเป็นจำนวนเกษตรกร 350,492 ราย โดยพื้นที่ปลูกข้าวเสียหายมากที่สุด 2,797,473 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,583,372 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ 27,904 ไร่ รวม 4,408,749 ไร่ ซึ่งขณะนี้มีการประกาศเขตภัยพิบัติและให้การช่วยเหลือแล้ว 13 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร ลำปาง สุโขทัย อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุพรรณบุรี

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และมาตรการอื่น ๆ ของกระทรวงเกษตรฯได้มีการปรับเกณฑ์เงินชดเชยเพิ่มขึ้นจากหลักเกณฑ์เดิมในปี 2556 กรณีเสียหายสิ้นเชิงประกอบด้วย

ด้านพืช ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท/พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท/ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ ด้านประมงปลาทุกชนิด/สัตว์น้ำอื่น ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ กุ้ง/หอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ กระชัง/บ่อซีเมนต์ ตร.ม.ละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตร.ม.

ด้านปศุสัตว์ อาทิ โค ตัวละ 13,000–35,000 บาท (ไม่เกินรายละ 5 ตัว) กระบือ ตัวละ 15,000–39,000 บาท (ไม่เกินรายละ 5 ตัว) สุกร ตัวละ 1,500–3,000 บาท (ไม่เกินรายละ 10 ตัว) ด้านอื่น ๆ อาทิ ช่วยเหลือค่าขนย้ายดินโคลนไม่เกิน 35,000 บาท/ราย ช่วยเหลือค่าปรับเกลี่ยพื้นที่เหมาจ่าย 800 บาท/ไร่ ช่วยเหลือค่าปรับพื้นที่ทำนาเกลือ ไร่ละ 1,220 บาท ไม่เกิน 30 ไร่ ช่วยเหลือค่าเครื่องมือประกอบอาชีพไม่เกิน 11,400 บาท/ครัวเรือน และช่วยเหลือค่าซ่อมแซมคอกสัตว์/โรงเรือน/ยุ้งข้าว ครัวเรือนละไม่เกิน 5,700 บาท

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ปีนี้พื้นที่ลุ่มเสียหายเยอะมากโดยเฉพาะข้าว ขอให้รัฐบาลเร่งสำรวจเพื่อเยียวยาให้ถึงมือผู้ที่ได้รับความเสียหายจริง ๆ และต้องวางแผนระยะยาว หาพื้นที่ถาวรในช่วงน้ำหลาก โดยให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รับผิดชอบก็ได้ เพราะเกษตรกรเรารู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าน้ำจะมา แต่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมประสานสำหรับการรับมือมากกว่านี้ เพราะเท่าที่ทราบคือขาดการประสานงานอย่างมาก

“ขอร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านมีอำนาจสั่งการมากที่สุดควรจะสั่งการให้ตรงจุดไปเลย และที่สำคัญพื้นที่ลุ่มที่รับผลกระทบหนักมาก ๆ เช่น ทุ่งรับน้ำที่ชาวนาเสียสละ ซึ่งตอนน้ำท่วมต้องรับน้ำ และช่วงที่ขาดเเคลนน้ำก็ต้องงดทำนา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี กรณีนี้ควรมีงบฯบางส่วนที่ให้เฉพาะไปเลย เพราะพระนครศรีอยุธยาหนักมากในหลายอำเภอ”

“ทั้งนี้ ยังประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ได้จนกว่าน้ำจะลด คงจะกระทบไปถึงเดือนหน้า ดังนั้น สิ่งที่ภาคราชการควรทำขอให้หน่วงน้ำเอาไว้ ควรมีเงินฉุกเฉินกรณีพิเศษพื้นที่ที่กระทบหนักและลดขั้นตอนเร่งรัดเบิกจ่ายให้เร็วที่สุดให้ถึงมือเกษตรกร”

นอกจากนี้ มองว่ารัฐควรใช้โมเดลน้ำท่วมปี 2554 ในการช่วยเหลือเยียวยาประกันภัยพืชผล โครงการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือประกันภัยข้าวนาปี โดยรัฐให้การอุดหนุนเบี้ยประกัน ความเสียหาย ราคาผักสด ปรับขึ้นบ้าง แต่ไม่มาก เนื่องจากปัญหาขนส่งล่าช้าโดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วม กรมการค้าภายในเร่งประสานเชื่อมโยงสินค้าเข้าไปไม่ให้ขาดแคลน พร้อมติดตามดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด ยันตอนนี้ยังไม่มีการร้องราคาผักสินค้าขาด

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า การดูแลสินค้าของกรมการค้าภายในช่วงเทศกาลกินเจและในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ในขณะนี้ได้ประสานไปยังพาณิชย์จังหวัดทุกพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมเพื่อดำเนินการเชื่อมโยงสินค้าจากที่ผลิตไปยังแหล่งจำหน่าย เพื่อป้องกันไม่ให้พืชผักขาด ให้ได้รับสินค้าอย่างเพียงพอและทั่วถึง ซึ่งตอนนี้ได้จัดส่งไปแล้ว เช่น จังหวัดชัยภูมิ โดยสินค้าที่จัดส่งไป อาทิ ผักสด เนื้อหมู ไข่ไก่ ทั้งยังให้ดูแลในพื้นที่ตลาดสด เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาจำหน่ายสินค้าอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ กรมยังได้ประสานไปยังสถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร ในการเปิดจุดจำหน่ายผักสด เพื่อให้บริการแก่ประชาชนให้ได้สินค้าด้วย ส่วนภายหลังน้ำลดกรมได้จัดเตรียมรถโมบายธงฟ้าเข้าไปช่วยเสริมเพื่อช่วยเหลือประชาชนในการเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคและของใช้ชีวิตประจำวันที่จำเป็น พร้อมประสานจังหวัดในการจัดพื้นที่ให้ด้วย

“สินค้าในช่วงน้ำท่วมอาจจะขาดแต่เราก็เสริมเข้าไปแล้ว แต่ไม่ได้มีการร้องเรียนว่ามีพื้นที่ไหนสินค้าขาดแคลน อีกทั้งยังประสานไปยังตลาดว่ามีสินค้าผักสดชนิดไหนขาดแคลนไหม มั่นใจว่าผักยังเพียงพอ ราคาอาจจะมีการปรับขึ้นเล็กน้อยเพราะเป็นช่วงเทศกาลถือว่าปกติ ซึ่งมีสินค้าปรับขึ้นบ้างแต่ก็มีสินค้าที่ปรับราคาลดลงด้วย”

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นเนื่องจากเจอปัญหาเรื่องการขนส่งมีอยู่บ้าง เพราะปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ส่งผลให้ไม่สามารถส่งสินค้าได้ หรือส่งได้ลำบาก ทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าซึ่งพยายามเร่งปรับรูปแบบขนส่งเพื่อให้สินค้าเข้ามาได้ทัน สินค้าที่ขึ้นบ้าง เช่น คะน้า ผักกาดหอม หัวปลี ส่วนราคาผักที่ลดลง เช่น กวางตุ้ง ขึ้นฉ่าย ผักชี ต้นหอม ซึ่งก็มีอีกหลายรายการราคาทรงตัว ส่วนของแห้งไม่ว่าจะเป็นเห็ดหอม เส้นหมี่ โปรตีนเกษตร แป๊ะก๊วย ราคาเท่าปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการปรับขึ้นแต่อย่างไร

สำหรับสถานการณ์ราคาผักสดขายปลีกที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ผักบุ้งจีน ปรับขึ้น 5 บาท เฉลี่ย กก.ละ 35-40 บาท จากเดิม 30-35 บาท กะหล่ำปลีปรับขึ้น 5 บาท เฉลี่ย กก.ละ 30-35 บาท จากเดิม 25-30 บาท ส่วนผักที่ราคาปรับลดลง เช่น พริกขี้หนู (จินดา) ลดลง 10 บาท เฉลี่ย กก.ละ 50-60 บาท จากเดิม 60-70 บาท ส่วนราคาผักสดที่ยังทรงตัว เช่น คะน้า เฉลี่ย กก.ละ 45-50 บาท กวางตุ้ง เฉลี่ย กก.ละ 20-25 บาท ผักกาดขาวปลี เฉลี่ย กก.ละ 40-45 บาท ถั่วฝักยาว เฉลี่ย กก.ละ 45-50 บาท ผักชี เฉลี่ย กก.ละ 16-17 บาท และมะนาวเบอร์ 1-2 เฉลี่ยผลละ 3.0-3.5 บาท

นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาตามตัวเลขที่ระบุว่าเสียหาย 2.7 ล้านไร่ เบื้องต้นคาดว่าจะมีทั้งพื้นที่เกี่ยวแล้ว และพื้นที่อยู่ระหว่างเตรียมเก็บเกี่ยว

ยกตัวอย่างเช่น จ.กำแพงเพชร ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกข้าวขาวเสียหายไปประมาณ 5% เพราะส่วนใหญ่เกี่ยวหมดแล้วเนื่องจากปีนี้สถานการณ์ฝนมาเร็วกว่าปกติ ตั้งแต่เดือนเมษายน และพอเกี่ยวเสร็จก็เริ่มปลูกรอบใหม่ต่อทันที ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิหลักของประเทศยังประเมินได้ยาก ขึ้นอยู่กับว่าถ้าฝนเข้ามาแล้วสามารถระบายน้ำได้เร็วหรือไม่ หากระบายช้าท่วมขัง 7-20 วันก็จะกระทบ แต่หากระบายได้เร็วจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น

“สถานการณ์ราคาปีนี้ในส่วนของข้าวเปลือกเจ้าตันละ 7,800-8,000 บาท ความชื้น 15% ลดลงจากปีก่อนที่ราคาตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิ ผลผลิตจะออกประมาณเดือนพฤศจิกายน ราคาตันละ 11,000-12,000 บาท ยังใกล้เคียงกับปีก่อน แต่ราคาข้าวสารหอมมะลิขายให้ผู้ส่งออกตันละ 22,000 บาท เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่ตันละ 17,000-18,000 บาท”

“มีเพียงข้าวเหนียวปีนี้ลดลงไปเยอะ เพราะคนหันมาปลูกข้าวเหนียวมากขึ้น จากที่เห็นราคาดีขึ้นตันละ 15,000-17,000 บาท ทำให้ผลผลิตมากเกินไป ส่วนตัวยังมองว่ามีโอกาสที่ราคาข้าวหลายตัวจะปรับราคาลดลง รัฐบาลคงเตรียมงบประมาณสำหรับชดเชยประกันรายได้ 1.5-1.8 แสนล้านบาท”