ทุนญี่ปุ่น IRC ไม่หวั่น น้ำทะลักอยุธยาซ้ำรอยท่วมใหญ่ปี’54

นักลงทุนญี่ปุ่นไหม่หวั่นน้ำท่วมอยุธยา

IRC เตรียมแผน BCP พร้อมรับมือน้ำทะลัก “อยุธยา” เผยพันธมิตรนักลงทุนญี่ปุ่นยังมั่นใจไม่ซ้ำรอยปี’54 พร้อมลุยสู่เป้าหมาย 8%

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) หรือ IRC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ติดตามสถานการณ์ และเตรียมแผน BCP รับมือวิกฤตน้ำท่วม

จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุดทำให้มั่นใจว่าสถานการณ์น้ำจะไม่ซ้ำรอยปี 2554 แม้ว่าจะมีการทยอยระบายน้ำลงมาทางอยุธยาหลายพื้นที่ แต่หากเทียบปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก จะพบว่า เขื่อนภูมิพล ปี 2554 มีปริมาณน้ำ 94% ของความจุอ่าง แต่ปีนี้มีเพียง 50% ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ ก็มีเพียง 44% จากปี 2554 ที่มี 99% ส่วนเขื่อนที่น่าห่วงคือแควน้อยฯ ซึ่งมีปริมาณน้ำ 93% ของความจุอ่าง แต่ก็เป็นเขื่อนที่มีความจุขนาดเล็กกว่าเขื่อนภูมิพล 13 เท่า

ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีปริมาณน้ำคิดเป็น 106% ของความจุอ่าง แต่ก็ยังน้อยกว่าปี 2554 มีปริมาณน้ำ 136% ของความจุอ่าง ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่จังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ยังคงเพิ่มสูงขึ้นจากการที่เขื่อนป่าสักฯต้องปล่อยน้ำลงท้ายเขื่อน ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ใต้เขื่อนตามริมแม่น้ำป่าสักยังมีน้ำท่วมไปอีกสักระยะ รวมถึงพื้นที่บางส่วนของ จ.พระนครศรีอยุธยา แต่หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์ในพื้นที่จะกลับสู่ภาวะปกติในวันที่ 15-16 ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้หากภาคใต้มีปริมาณฝนตกมากขึ้น จะส่งผลให้ราคายางพาราปรับสูงขึ้นอีก เพราะความต้องการยางยังสูง แต่การที่มีฝนตกชุกทำให้ออกไปกรีดยางไม่ได้ตามปกติ

“บริษัทเราร่วมทุนกับนักลงทุนญี่ปุ่น ผ่านวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 เราไม่ท่วม และมีการคุยกันตลอด นักลงทุนไม่ได้วิตกกังวลว่าจะซ้ำรอยร้ายแรงเท่าปี 2554 และรัฐได้มีการบริหารจัดการน้ำที่เป็นธรรมชัดเจน โอกาสจะเกิดแบบนั้นมีน้อย ขอให้รัฐและเอกชนร่วมมือกัน อย่างที่เคยทำเมื่อหลังปี 2554 ทางผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้มีการเตรียมพร้อม ทั้งการทำฟลัดเวย์ การทำแก้มลิงรับน้ำ ส่วนบริษัทก็มีแผน BCP เตรียมพร้อมรับมือมีหลายด้าน อาทิ การถมที่ดินที่มีระดับสูงกว่าระดับน้ำ 4 เมตร และยังเข้าไปช่วยเหลือชุมชนเรื่องการเตรียมสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าไปช่วยเหลือด้วย”

ทั้งนี้ บริษัทได้ประเมินภาพรวมยอดขายปี 2564 เติบโต 8% แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิดระลอก 3 ก็ตาม ในแง่กำไร ช่วงครึ่งปีแรกขยายตัว 46% ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว ผลจากการขยายตัวของธุรกิจส่งสินค้าและอาหารแบบดีลิเวอรี่ ทำให้ตลาดมีความต้องการใช้ยางล้อมากขึ้น และบริษัทได้มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในเรื่องความคงทนของยาง