ปมไบโอดีเซล B6 ศึกใหม่ พปชร. ชาวสวนจี้ “ประวิตร” ค้านมติ “สุพัฒนพงษ์”

ปาล์ม

ชาวสวนปาล์ม 3.5 แสนราย แซะรอยร้าว พปชร. จ่อบุกร้อง “ประวิตร” ประธาน กนป. จี้ค้านมติ “สุพัฒนพงษ์” ออกนโยบาย 25 วัน ปรับสูตรผลิต B6 แทน B10 หวั่นลดใช้น้ำมันปาล์มดิบฉุดราคาปาล์มร่วง จากราคานิวไฮที่ 8 บาท/กก. CPO 39-40 บาท ส.อ.ท.ชี้ดีมานด์การใช้ CPO วูบ 1 ใน 4 ฉุดจิตวิทยานักลงทุน โรงงาน B100 เตรียมรับมือราคาไทยดิ่งสวนทางตลาดโลก

นายมานัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมชาวสวนเตรียมทำหนังสือเข้าร้องเรียนต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.)

เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนนโยบายของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เป็นประธาน ที่มีมติเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ให้ปรับสูตรการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็น B6 ซึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบลดลงอย่างมาก และจะส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์มของเกษตรกร โดยขอให้รัฐบาลหันไปใช้นโยบายด้านอื่นแทน เช่น การปรับลดภาษีโครงสร้างราคาน้ำมัน

“ขณะนี้ราคาได้ปรับสูงขึ้นไปถึง กก.ละ 8 บาท ตามทิศทางการฟื้นตัวของราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับขึ้นไปถึง 39 บาทต่อลิตร การประกาศนโยบาย 25 วันนี้ออกมาจะกระทบเกษตรกรแน่ ซึ่งสะท้อนว่าต้องการอุ้มผู้ค้ามาตรา 7 โดยใช้กองทุนน้ำมันฯ ทั้งส่งสัญญาณว่า
จะกู้ ทั้งที่จะอุ้มได้อย่างไร ในเมื่อราคาเนื้อน้ำมันดีเซลจริง ๆ ขึ้นไปถึง 33 บาทต่อลิตร ไบโอดีเซลไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำมันแพง

เพราะส่วนต่างราคาไบโอดีเซลแค่ 70 สตางค์ต่อลิตร ช่วยเกษตรกรชาวสวนปาล์ม 3.5 แสนราย เป็นพืชเศรษฐกิจที่รัฐบาลส่งเสริมให้ปลูกในช่วงที่ขาดแคลน และกว่าจะสร้าง B10 ให้เป็นน้ำมันมาตรฐานได้ ในสมัยอดีต รมว.สนธิรัตน์ และส่งเสริมลงทุนโรงงานไบโอดีเซล B100 ที่ลงทุนไปแล้ว การมากำหนดนโยบาย 25 วันแบบนี้ ผิดหลักการบริหารจัดการต้นทุน ไม่มีการเรียกหารือเกษตรกรและยังกระทบโรงงานไบโอดีเซลต้องลดกำลังการผลิตไป 50% แล้วนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯประวิตร จะมาดูแลจัดการอย่างไร”

ด้านนายกฤษดา ชวนะนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายการปรับสูตรลดใช้ไบโอดีเซล B6 เป็นเวลา 1 เดือน จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) หายไป 40,000 ตันต่อเดือน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของความต้องการใช้ที่เดือนละ 2 แสนตัน

จะส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์มและ CPO ในตลาดแน่นอน โดยคาดว่าจะเห็นผลในช่วง 2 สัปดาห์จากนี้ หลังจากที่สต๊อกของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 หมด อาจมีการซื้อด้วยราคาใหม่ที่น่าจะลดลง จากปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบ ขึ้นไปถึง 40 บาทต่อลิตร สูงสุดในรอบ 10 ปี

“การประกาศนโยบายนี้ส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาของนักลงทุน เพราะการประกาศนโยบายส่งเสริมการใช้ B10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ทำให้มีการลงทุนสร้างโรงงานไบโอดีเซลไปแล้ว แต่เมื่อประกาศนโยบายนี้ออกมา และยิ่งให้มีผลบังคับใช้แค่ 25 วัน จะยิ่งกระทบจิตวิทยา

ทำให้เอกชนไม่มั่นใจว่าจากนี้ถ้าราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะมีการประกาศปรับลดการใช้ไบโอดีเซล B6 ลงไปอีก เป็น B3 หรือไม่ ซึ่งหากเป็นอย่างนี้อาจจะกระทบต่อราคาซื้อวัตถุดิบในรอบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตในช่วงปลายปีรอบหนึ่ง และจะออกมารอบใหญ่เดือนมีนาคม 2565”

รายงานข่าวระบุว่า ปัญหานี้ถูกโยงเป็นประเด็นการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทันที เพราะเดิมนโยบายการส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซล B10 เป็นนโยบายที่ส่งเสริมให้เกิดขึ้นในสมัยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน

แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีในโควตาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นการเขย่าฐานเสียงเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มทางภาคใต้ ทั้งที่อำนาจการกำกับดูแลกระทรวงเกษตรฯอยู่ในมือพรรคประชาธิปปัตย์ แต่ทำอะไรไม่ได้ ทำให้ชาวสวนต้องไปพึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนป. เพื่อให้บาลานซ์การจัดทำนโยบายนี้