“เฉลิมชัย” ทุ่ม 2 หมื่นล้าน ดันโปรเจ็กต์ “เกษตรอัจฉริยะ 2 ปี ทำน้อยได้มาก”

“เฉลิมชัย” ทุ่มกว่า 2 หมื่นล้าน ยกเครื่องแผนภาคเกษตร ดึงเอกชนเทคโนโลยี ปั้นโปรเจ็กต์ “เกษตรอัจฉริยะ 2 ปี ทำน้อย ได้มาก” หวังเพิ่มราคาสินค้าไม่ต่ำกว่า 3% พาเกษตรกรพ้นความจน 20% ปลดล็อค หนี้สิน พ้นวิกฤตโควิด ลั่นปีงบฯใหม่ดันงานวิจัย พัฒนาบุคลากร ยังปัดตอบแผนทำงาน 4 หน่วยงาน “ปลัด” ชี้โควิด-19 ภาคเกษตรดันจีดีพีไทย เป็นภาคเดียวที่ไม่ติดลบ พร้อมเดินหน้าสร้างความมั่นคงเรื่องอาหารได้ 

วันที่ 7 ตุลาคม 2564 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและเปิดตัวแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ปี พ.ศ. 2565-2566 แก่เกษตรจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (zoom meeting) ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ได้กำหนดให้มีแผนแม่บทด้านการเกษตรและแผนย่อยเกษตรอัจฉริยะ ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร

มีเป้าหมายสำคัญให้เกิดการทำเกษตรแบบทำน้อยได้มาก ทั้งนี้ ยังเร่งพัฒนาบุคลากรในหน่วยงาน ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคให้มีความพร้อมทั้งด้านวิจัยและพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐและเกษตรกร สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และช่วยเป็นครูผู้ฝึกหรือเทรนเนอร์ ให้แก่เกษตรกร โดยมุ่งเน้นทั้ง Smart Farmer และ Young Smart Farmer ตลอดจนผู้นำเกษตรกรของ ศพก. และแปลงใหญ่ มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาแปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในทุก ๆ จังหวัดของประเทศ และให้เข้าถึงทุกอำเภอภายใน 3 ปีให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

“ผมได้สั่งงานให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรฯ ในการขับเคลื่อนแผนงานนี้ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ ได้มีการขอไปทางฝ่ายแผนให้บรรจุงบประมาณในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะลงไปในปีงบประมาณ 2566 ด้วย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง ซึ่งทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้ ทุกหน่วยต้องช่วยกัน ทั้งในส่วนของภาครัฐ ดึงงานวิจัย พัฒนาบุคลากร ภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ หากรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ โครงการนี้เราจะเดินไปเก็บเกี่ยวผลสำเร็จในอนาคตข้างหน้าร่วมกัน เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่กระทรวงฯ หวังไว้อยากให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกษตรกรพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสอบถามนายเฉลิมชัยถึงประเด็นการแบ่งงานปีงบประมาณ 2565 ของ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร 2.กรมพัฒนาที่ดิน 3.สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และ 4.องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) นายเฉลิมชัยยังปฏิเสธการให้สัมภาษณ์

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สานต่อการทำงานด้านเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการจัดทำแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ. 2565-2566 โดยกระทรวงเกษตรฯร่วมกับผู้แทนของหน่วยงานภายนอกกว่า 200 คน ทั้งจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

โดยมีเป้าหมายแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะระยะโครงการ 2 ปี ดังกล่าวอยู่ภายใต้งบประมาณมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยให้พ้นกับดักความยากจน ลดจำนวนเกษตรกรที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนที่มีรายได้ประมาณ 3,000 บาท/ปี ลงปีละประมาณ 10%  หรือเฉลี่ย 2 ปีเกษตรกรที่มีความยากจนจะลดลงประมาณ 20% จากปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาผลผลิตภาคเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 3% ผลักดันให้จีดีพีภาคเกษตรให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในจีดีพีของประเทศ เพื่อให้ภาคเกษตรไทยสามารถค้ำจุนเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งขณะนี้จีดีพีภาคเกษตรมีสัดส่วนประมาณ 5.8% ของจีดีพีประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเร่งขับเคลื่อนภาคเกษตรให้เติบโตได้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ทำน้อยได้มาก จะดำเนินการโดยการทำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่คนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน ลดการสัมผัสใกล้ชิดกัน แต่ภาคเกษตรต้องเดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านอาหาร หลังจากการระบาดของโควิด-19 ภาคเกษตรแม้จะมีการเติบโตน้อยลง แต่น่าจะเป็นภาคเดียวที่ไม่ติดลบ ยังเดินหน้าสร้างความมั่นคงเรื่องอาหารได้  ดังนั้นงบประมาณที่จัดสรรมาจะนำไปใช้ทั้งเรื่องของการวิจัย การพัฒนาคน และยกระดับสินค้าการเกษตร