เส้นทางน็อนออยล์ OR จาก Flash สู่ ORZON

ORZON

ก่อนหน้านี้ “บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ (OR)” ประกาศแผนการลงทุน 5 ปี (2564-2568) 75,000 ล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วน 35% ยังคงอยู่ที่การพัฒนาธุรกิจน้ำมัน รวมไปถึงธุรกิจ EV สัดส่วน 30% เน้นไปที่ธุรกิจ non-oil สัดส่วน 20% ลงทุนในต่างประเทศ และสัดส่วนที่เหลือ 15% ลงทุนในธุรกิจที่เป็น new S-curve

“นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR กล่าวถึงเป้าหมายของโออาร์ คือ การเพิ่มสัดส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (non-oil) เป็น 30% เพื่อต้องการที่จะเข้าถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคมากขึ้น โดยใช้ช่องทางของสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ที่มีอยู่กว่า 2,000 สาขา และคาเฟ่อเมซอน

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ภายใต้เงินลงทุน 5 ปี ที่เตรียมไว้ 75,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เริ่มทยอยปรับโครงสร้างภายในองค์กร ตั้งหน่วยงานที่ดูธุรกิจเรื่องของอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (new S-curve)

สำหรับแผนการดำเนินงานเพื่อขยายธุรกิจ non-oil ได้เริ่มตั้งแต่การเข้าไปถือหุ้นในบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส (Flash Express) ซึ่งเป็นบริษัทบริการด้านโลจิสติกส์จัดส่งพัสดุอันดับ 3 ของประเทศ ต่อมาคือการเข้าไปถือหุ้นในบริษัท พาคามาร่า คอฟฟี่ โรสเตอร์ จำหน่ายเครื่องชงและอุปกรณ์กาแฟ รวมทั้งซื้อหุ้น 20% ใน startup บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด หรือกิจการร้านอาหารแบรนด์โอ้กะจู๋

และล่าสุดคือการจับมือกับกองทุน 500 Startups หรือ 500 TukTuks ร่วมลงทุนใน ORZON Ventures ซึ่งเป็นกองทุนส่วนบุคคลที่จะดึงเอา startup ทั้งไทยและที่ดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้ามาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ในธุรกิจของโออาร์ เพราะต้องการตอบโจทย์คนเดินทางในอนาคต (mobility) และตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกไลฟ์สไตล์

ดังนั้นจึงต้องดึง startup ที่เป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) การท่องเที่ยว (travel) สุขภาพ (health and wellness) รวมไปถึง digital lifestyle เข้ามา

“เบื้องต้นจะใส่เม็ดเงินเข้ากองทุน 1,500 ล้านบาท คัดเลือก startup ที่มีศักยภาพ สามารถเข้ามาเสริมส่วนที่โออาร์ยังขาด เช่น ทางด้านเทคโนโลยี ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีไดเร็กชั่นที่ตอบโจทย์กับเรา การที่เราออกจากธุรกิจน้ำมันมันคือการทรานส์ฟอร์ม จะเห็นพวกพลังงานสะอาด เห็นเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เราก็ต้องมองสเต็ปถัดไปคือการมีสถานีชาร์จ ศูนย์ซ่อมรถ EV”

“ซึ่งตอนนี้เรามี Auto FIT อยู่ในปั๊มเราอยู่ก็จะต้องรองรับการซ่อมทั้งรถที่ใช้น้ำมันและกำลังเตรียมคนที่รองรับการซ่อมรถ EV เรามีแผนที่จะตั้งบริษัทใหม่ออนไลน์ทูออฟไลน์ เป็นลักษณะสั่งซื้อขายอุปกรณ์ซ่อมรถยนต์ต่าง ๆ สั่งซื้อตามสเป็ก และก็มีอีกหลายแพลตฟอร์มที่เราจะเอาเข้ามาใช้ในปั๊มและร้านอเมซอนของเรา ทั้งหมดมันก็จะต่อยอดไปสู่ new S-curve ด้วย”

“กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล” ผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks ในฐานะผู้บริหารของ ORZON Ventures กล่าวว่า ด้วยโออาร์มี ecosystem ที่พร้อมสนับสนุน startup ให้เติบโตได้แบบก้าวกระโดด ซึ่งภายในเดือน พฤศจิกายน 2564 นี้ ORZON Ventures จะเริ่มลงทุนได้ ด้วยการใส่เงินลงทุนใน startup 1-2 ราย

ขณะเดียวกันได้ตั้งเป้าในระยะแรกจะลงทุนใน startup ที่เน้นคนไทยก่อน 10-15 ราย จากนั้นในระยะเวลา 10 ปี ตามอายุของ ORZON Ventures คาดว่าจะเห็นการลงทุนใน startup เพิ่มเป็น 20-30 ราย และภายใน 3-5 ปี อาจเห็นยูนิคอร์น (startup รายได้ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 ราย โดย ORZON Ventures จะให้เงินสนับสนุนไม่เกิน 50 ล้านบาท/ราย และพร้อมใส่เงินเพิ่มอีกหากมีศักยภาพไปต่อได้

“การจับมือครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการขยายโอกาสให้กับ startup ในประเทศไทยแล้ว ยังจะได้รับการสนับสนุนช่องทางไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีตลาดผู้บริโภคถึง 600 ล้านคน ด้วยการจับมือกับการขยายสาขาของโออาร์นั่นเอง สิ่งที่ startup มองเขาต้องการหาเงินทุน ตลาดที่จะมารองรับ ช่องทาง และเมื่อถึงจุดหนึ่งเขาสามารถก้าวเข้าสู่ IPO ได้ด้วยเช่นกัน”

หลังจากนี้ต้องมาลุ้นกันว่า OR จะลุยสู่ธุรกิจใหม่อะไรอีก เพื่อปักธงสู่ธุรกิจ nonoil ให้สำเร็จในอีก 4 ปีข้างหน้า