“ค่าครองชีพยุคโควิด” สุดโหด เงินเดือนพอไหม?

ค่าครองชีพ

แน่นอนว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลว่า ขณะนี้ประชาชนต้องจับจ่ายสินค้า หรือบริการอะไรที่จำเป็นเพิ่มบ้าง หรือมีสินค้าจำเป็นรายการใดบ้างที่ปรับราคาขึ้นไปแล้วช่วงนี้ พบว่า

1. ค่าน้ำมัน เทียบปี 2563/2564 ปรับขึ้นเกือบลิตรละ 10 บาท (ทุกชนิดน้ำมัน) เดิม คนขับรถเล็ก อาจจะเติมน้ำมันถังละ 600-650 บาท เพิ่มเป็น 700-800 บาท

2. อาหารแพง จากต้นทุนเนื้อหมูขยับ กก.ละ 3-5 บาท เป็น กก.ละ 140-150 บาท (แล้วแต่ปริมาณการรับประทาน) ถ้าซื้ออาหารสำเร็จ ตามสั่ง หรือสั่งเดลิเวอร์รี่ จะยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก

3. น้ำมันปาล์มขึ้น ขยับราคาขายเต็มเพดาน 49 บาท / ขวด

4.ผักแพง เพราะน้ำท่วม ขนส่งไม่ได้ อีก กก.ละ 5-10 บาท

5.ค่าวัคซีนล่วงหน้า เช่น โมเดอร์นา  1,650 บาท /ครั้ง หารเฉลี่ยต้องเก็บเงินเดือนละ 137.50 บาทต่อคน

6.ค่าเบี้ยประกันภัยน้ำท่วม 3,800 -4,000 บาท ต้องเจียดเงินไว้เฉลี่ยเดือนละ 300-400 บาท

7.ค่าเบี้ยประกันโควิด 500 บาท /ปี ต้องเก็บไว้อีก เดือนละ 42 บาท

8.ค่าอินเตอร์เน็ตช่วงเวิร์คฟอร์มโฮม ซึ่งถึงจะกลับมาทำงานปกติแล้วก็ยังต้องจ่าย เดือนละ 399-500 บาท

9.ค่าชุดตรวจโควิด ATK 70 -120 บาท ถ้าตรวจสอบสัปดาห์ 2 ครั้ง รวมทั้งเดือนรวม 270 บาท

10.ค่าถุงมือยาง แพ็คละ 40 บาท (แล้วแต่การใช้)

11.ค่าหน้ากากอนามัย กล่องละ 100 บาท หรือถ้าใช้อย่างดี ยูนิชาร์ม 3D แพ็คละ 73 บาท มี 4 อัน เฉลี่ยอันละ 18.25 บาท ถ้าใชทั้งเดือน รวม 547.50 บาท

12.ค่าแอลกอฮอล์ล้างมือ ขนาด 5 ลิตร 325 บาท(แล้วแต่ปริมาณการใช้)

รวมเป็นภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นมาหลายพันบาทต่อคนต่อเดือน ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายประจำอย่างค่าเช่าบ้าน ค่าแพ็กเกจในโทรศัพท์ ค่าน้ำ และค่าไฟที่รัฐอาจจะพยุงเราไปถึงแค่สิ้นปี 2564

อีกด้านหนึ่งหากดูจากตัวเลขทางการ ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกันยายน 2564 เท่ากับ 101.21 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2564 เพิ่มขึ้น 1.59% และหากเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 1.68% เป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากหดตัวในเดือนที่ผ่านมา

ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือนของปี 2564 (มกราคม-กันยายน ) เพิ่มขึ้น 0.83%

ทั้งนี้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ปรับประมาณการเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2564 ใหม่ จากเดิมคาดการณ์ 0.7-1.2% มีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ปรับเป็น 1% บวกลบ 0.2% หรืออยู่ระหว่าง 0.8-1.2%

เมื่อวิเคราะห์ลงไปในสินค้าแต่ละหมวดพบว่า หมวดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ภาพรวม ลดลง 1.16% แต่ในกลุ่มนี้มีสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น คือ ไข่และผลิตภัณฑ์นม บวก 3.76% แต่ที่ปรับสูงมากก็คือเครื่องประกอบอาหาร บวก 4.81% ตามมาด้วยสินค้าอาหารบริโภคในบ้านและอาหารบริโภคนอกบ้าน ปรับขึ้น 0.32% และ 0.28% ตามลำดับ

ขณะที่หมวดสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและ เครื่องดื่ม ปรับขึ้น 3.60% จาก หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ปรับขึ้น 10.08% หมวดนี้มีน้ำหนักในการคำนวณเงินเฟ้อ 23.28% (เกือบหนึ่งในสี่) โดยรายการสินค้าที่ปรับราคาสูงสุดคือ “น้ำมันเชื้อเพลิง” เพิ่มขึ้นถึง 32.44%

ตามมาด้วยค่าโดยสารสาธารณะปรับขึ้น 0.61% ค่าตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลปรับขึ้น 0.31% และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ปรับขึ้น 0.03%

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หากไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ที่ลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา แต่ยังอุดหนุนน้ำมันดีเซล แต่เบนซินไม่มีมาตรการ และมีการผ่อนคลายกิจกรรมจากโควิด-19 ที่จะทำให้การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจะกลับมา มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว

บวกกับการอ่อนค่าของเงินบาท ที่กระทบต้นทุนนำเข้าน้ำมัน การผลิต และอาหารสดที่มีความผันผวน เช่น ข้าว ที่ยังต่ำกว่าปีที่แล้ว ผักและผลไม้ ที่มีความผันผวน

รวมปัจจัยทั้งหมดนี้ จะทำให้เงินเฟ้อไตรมาส 4 ขยายตัวอยู่ในช่วง 1.4-1.8% ถือว่า “ค่อนข้างสูง” ตลอดทั้ง 3 เดือนที่เหลือ

แล้วทางออกของการดูแลค่าครองชีพจะทำอย่างไร ในเมื่อหลายคนยังคงมีอัตราเงินเดือนเท่าเดิม เพราะด้วยภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ นายจ้าง-ลูกจ้างต่างกันก็ลำบาก ความหวังการจะปรับเงินเดือนมีเพียงน้อยนิด

เรียกว่าแค่การได้มีงานทำถือเป็นโชคดีแล้ว การถามถึงความมั่นใจในรายได้ในอนาคตยิ่งยากขึ้นไปอีก