ไทยแชมป์โลก “ผลิตน้ำยาง” จ่อตั้ง “ตลาดล่วงหน้า” กำหนดราคา

ยางพาราศรีตัง

ในงานสัมมนา “ยางก้อนถ้วยคุณภาพดีสร้างสุข x บรรทุกยางติดรางสร้างรอยยิ้ม ปีที่ 5” จัดโดยหนังสือพิมพ์ข่าวสด เทคโนโลยีชาวบ้าน และกลุ่มศรีตรัง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผลผลิตยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 4.4 ล้านตัน หรือ 38.2% ของตลาดโลก

โดยเฉพาะ “อุตสาหกรรมน้ำยางข้น” ของไทยอยู่ในอันดับ 1 ของโลก ในแต่ละปีไทยผลิตเพื่อส่งออกสัดส่วน 75.9% ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 สัดส่วน 70% ของปริมาณการค้าน้ำยางข้นทั่วโลกมีมูลค่าตลาดประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ตลาดส่งออก 50% กระจุกอยู่ที่มาเลเซีย รองลงมา ตลาดจีน 33.5% และเกาหลีใต้ 1.8%

“ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปรับแผนกลยุทธ์เพื่อเปิดตลาดใหม่อีกกว่า 100 ประเทศ เนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ความต้องการน้ำยางข้นเพิ่มขึ้น โดยสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซีย (MARGMA) คาดการณ์ความต้องการถุงมือยางทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 662 พันล้านชิ้น ในปี 2566 หรือเติบโตเฉลี่ย 23.1% ต่อปี ในช่วงปี 2564-2566”

โดยนโยบายตลาดเชิงรุกได้มอบให้สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ทูตเกษตรประจำอยู่ต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) ร่วมกับทูตพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันส่งเสริมการตลาดยางพาราในประเทศคู่ค้าสำคัญ

ขณะเดียวกันได้ขับเคลื่อนร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาด (market share) และขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทุกชนิด เพิ่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งได้วางระบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ด้วย 7 กลยุทธ์สู่ศักยภาพใหม่ยางพาราไทย ได้แก่

1.การยกระดับมาตรฐาน GAP FSC GMP

2.การประกันรายได้ชาวสวนยาง การนำระบบการประมูลออนไลน์และตลาดกลางซื้อขายล่วงหน้า

3.การยกระดับด้วย AIC และ กยท.ด้วยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม

4.กยท.ต้องยกระดับอัพเกรดองค์กรและการบริหารจัดการทะยานสู่ global player รวมถึงบริษัทของไทย เช่น ศรีตรัง

5.การพัฒนาวิสาหกิจยางพาราสู่ SMEs เกษตร

6.ส่งเสริมเชิงรุกอุตสาหกรรมน้ำยางข้น อาทิ Rubber Valley Rubber City EEC

7.สร้างเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน

“ในเมื่อไทยเป็นผู้ส่งออกยางสูงสุดของโลก เราไม่ควรเป็นพระรอง กยท.เราควรเป็น global player และเอกชน เช่น บริษัทศรีตรัง จะเป็นเหมือนหัวขบวนของไทย สร้างรายได้เพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะชาวสวนยาง 1.83 ล้านราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยคงประเทศผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลกต่อไป”

ล่าสุดกระทรวงอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดตั้ง “ตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริงของยางพารา” โดย กยท.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยจะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเร็ว ๆ นี้

ด้าน นายศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทรนด์ที่ทุกอุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อม

ล่าสุดทางสหภาพยุโรป (EU) ได้กำหนดร่างมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกยางไปยังสหภาพยุโรปต้องเผชิญกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด อุตสาหกรรมส่งออกที่ใช้พลังงานในการผลิต จะมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือ “ค่าปรับ” ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องปรับตัว หากไม่เปลี่ยน ไทยเองจะถึงทางตัน มีโอกาสที่ผู้นำเข้าจะใช้ยางธรรมชาติ ซึ่งจากการศึกษาต้นยางพาราสามารถดูดสารพิษในอากาศ ไทยควรใช้จุดแข็งคุณภาพน้ำยางเป็นโอกาส ให้สอดรับกับกระแสหลักของโลก”