“เจ้าสัวเจริญ” เข้ารอบชิงดำ SPP 42 บริษัทแข่งเดือดลุ้นค่าไฟต่ำสุดเข้าวิน

ภาพ Pixabay

“ไทยเบฟ-ไทยโก้ฯ-เสริมสร้างฯ-มิตรผล” ลอยลำเข้ารอบประมูลโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm รวมกำลังผลิตปาเข้าไป 1,062 เมกะวัตต์ แต่ กกพ.รับซื้อแค่ 300 MW มีลุ้นใครเสนอราคาขายต่ำสุดเป็นผู้ชนะประกาศผลกลางเดือนธันวาคมนี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เข้ามาว่า ตามที่มีผู้สนใจเข้ายื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าในโครงการ SPP Hybrid Firm ในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏมีผู้มายื่นข้อเสนอขายไฟฟ้ารวมทั้งหมด 85 โครงการ แต่เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติและประเมินข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค พบมีเพียง 42 โครงการเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์รวมกำลังผลิต 1,062.2 เมกะวัตต์ (MW) มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขาย 755.3 MW ในขณะที่ กกพ.จะพิจารณารับซื้อแค่ 300 MW เท่านั้น

ทั้งนี้โครงการ SPP Hybrid Firm ทั้ง42 โครงการที่ผ่านเกณฑ์ ประกอบไปด้วย 1) กลุ่มที่ผ่านเข้ารอบ 4 โครงการคือ กลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ รวม 2 โครงการ กำลังผลิต 30 MW และบริษัทบางไทร ภูมิพัฒน์ (บริษัทในเครือนายเจริญ ศิริวัฒนภักดี) จำนวน 2 โครงการ กำลังผลิต 43 MW, กลุ่มบริษัทไทยโก้ เทคโนโลยี กำลังผลิต 43 MW, บริษัทเสริมสร้าง คอร์ปอเรชั่น กำลังผลิต95 MW 2) กลุ่มที่ผ่านเข้ารอบ 2 โครงการคือ บริษัทมิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ กำลังผลิต 52 MW, บริษัทบี กริม เพาเวอร์ กำลังผลิต 60 MW, บริษัทซุปเปอร์โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ กำลังผลิต 64 MW, บริษัทพีเอสที เอ็นเนอร์ยี กำลังผลิต60 MW, บริษัทศรีเจ้าพระยา กำลังผลิต 48 MW และบริษัทไบโอ เพาเวอร์ แพลนท์ กำลังผลิต 45 MW และ 3) กลุ่มที่ผ่านเข้ารอบเพียง 1 โครงการ เช่น บริษัทเกษตรผล เพาวเวอร์ แพลนท์ และบริษัทพิจิตรผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

ด้าน น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติทั้ง 42 โครงการขั้นตอนต่อไป กกพ.จะพิจารณาข้อเสนอทางด้านราคา และจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้ภายในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ โดยจะรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariffs หรือ FIT ค่าไฟฟ้าเริ่มต้นที่ 3.66 บาท/หน่วย แบ่งเป็นอัตรา FIT คงที่ 1.81 บาท/หน่วย และอัตรา FIT ผันแปร 1.85 บาท/หน่วย (ตามอัตราเงินเฟ้อ) “จะแข่งกันทุกประเภทเชื้อเพลิง”

โดยให้ผู้ยื่นข้อคำร้องเสนอส่วนลด (%) จากอัตรา FIT คงที่ ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะต้องเร่งดำเนินการจัดทำ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Code of Practice : COP) ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ทันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2562 และสามารถดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ถึงภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564