เตือน สธ.ซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ไม่มีสิทธิบัตรในไทยแพงเกินเหตุ อินเดียถูกกว่า 50 เท่า

Photo : REUTERS

7 องค์กรภาคประชาสังคมมีจดหมายถึงกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้ต่อรองราคายาโมลนูพิราเวียร์ที่กำลังจะจัดซื้อในเดือนธันวาคมสำหรับผู้ป่วย 2 แสนรายให้ได้ราคาที่เหมาะสม และนำเข้ายาชนิดนี้เดียวกันที่ราคาถูกกว่าเกือบ 50 เท่าจากอินเดียมาใช้แทน

วันที่ 14 ตุลาคม 2564 นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนองค์กรประชาสังคมที่ทำงานส่งเสริมการเข้าถึงยา ระบุว่า 7 องค์กรภาคประชาสังคมมีจดหมายถึงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวง อธิบดีกรมการแพทย์ และเลขาธิการของ อย. เมื่อ 12 ตุลาคม 2564

“ยาโมลนูพิราเวียร์ไม่มีสิทธิบัตรในประเทศไทย ไทยสามารถนำเข้ายาที่กำลังจะผลิตและขายโดยบริษัทยาในอินเดียได้ในราคาที่ 400-460 บาทต่อการรักษา ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังเจรจาขอซื้อยาจากบริษัทเมอร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทยาต้นแบบและมีแผนจะขายในอเมริการาคา 23,000 บาทต่อการรักษา”

นายนิมิตร์กล่าวว่า แม้ว่าบริษัทเมอร์ค จำกัด อาจยอมลดราคาให้ไทย ตามนโยบายกำหนดราคาให้ประเทศต่าง ๆ ตามความพัฒนาของประเทศก็ตาม แต่คาดการณ์ได้ว่าน่าจะยังเป็นราคาที่แพงและเป็นภาระงบประมาณก้อนใหญ่กับระบบสาธารณสุขของไทย ในขณะที่บริษัทยาที่อินเดียผลิตยานี้ได้ ไทยสามารถนำเข้าหรือผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ได้ในราคาที่ถูกกว่ามาก เพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องสิทธิบัตร

นอกจากนี้ งานวิจัยฉบับหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ทำร่วมกับโรงพยาบาลแพทย์ของคิงส์คอลเลจ ยังพบว่าต้นทุนการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ราคาถูกมาก และไม่ควรมีราคาขายไม่เกิน 19.99 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 660 บาท) ต่อการรักษา ซึ่งราคาที่อ้างในงานวิจัยนี้ได้รวมต้นทุนการผลิตและบวกกำไรร้อยละ 10 และภาษีร้อยละ 27 แล้ว

พร้อมกันนี้ มีข้อเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขต่อรองราคากับบริษัทเมอร์ค จำกัด ให้ได้ราคาที่เหมาะสมสำหรับยาที่จะจัดซื้อสำหรับรักษาผู้ป่วยได้ 200,000 รายในเดือนธันวาคมนี้ และนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ที่เป็นยาชื่อสามัญจากอินเดียหรือให้บริษัทยาในประเทศผลิตในราคาที่ถูกในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยเร่งพิจารณาและอนุญาตการขึ้นทะเบียนยาโมลนูพิราเวียร์ที่เป็นยาชื่อสามัญ เมื่อมีการมาขอขึ้นทะเบียนยา

ผลจากการวิจัยทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ในระยะที่ 3 พบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ช่วยลดอัตราการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลหรืออัตราการเสียชีวิตลดได้มากถึงร้อยละ 50 ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ใหญ่และมีอาการป่วยไม่รุนแรง โดยที่ผู้ป่วยต้องกินยาในขนาด 800 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมงต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน บริษัทเมอร์ค จำกัด กำลังขอขึ้นทะเบียนยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยารักษาโควิด-19 เป็นกรณีฉุกเฉินกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐ และมีแผนที่จะขอขึ้นทะเบียนยานี้กับ อย. ในหลายประเทศทั่วโลก

ยาโมลนูพิราเวียร์ไม่มีสิทธิบัตรจดไว้ในประเทศอินเดียและไทย ขณะนี้มีบริษัทยาชื่อสามัญในอินเดียสามารถผลิตยานี้และกำลังขอขึ้นทะเบียนยากับ อย. ของอินเดียมากกว่า 8 บริษัท และคาดหมายว่าจะได้รับการอนุมัติและเริ่มขายในอินเดียปลายเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งจะส่งผลให้มียาโมลนูพิราเวียร์หลายยี่ห้อแข่งขันในตลาดและมีราคาไม่แพง

ในขณะที่ประเทศเวียดนามได้เริ่มรักษาโควิด-19 ด้วยยาโมลนูพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงเกือบ 200,000 รายนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยให้กินยาและรักษาตัวที่บ้าน

สำหรับ 7 องค์กร ประกอบด้วย กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม (มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.), ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.), มูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, ชมรมเภสัชชนบท, และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ภาคประชาชน (FTA Watch)