ศึกชิงตำแหน่งปธ.สภาอุตฯ 2561 สัญญาใจ “เจน-สุพันธุ์” บริษัทยักษ์ใหญ่เอาด้วย

เลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.เดือนมีนาคมปีหน้าระอุ วงในเผยจับตาบริษัทยักษ์ใหญ่ลงชิงเลือกตั้งประธานคนใหม่ หลังเดิมเกมจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมาใน ส.อ.ท. ด้าน “เจน นำชัยศิริ” เตรียมรักษาสัญญาใจสุภาพบุรุษ ครบวาระ 2 ปี ส่งไม้คืน “สุพันธุ์ มงคลสุธี” นั่งประธาน ส.อ.ท.อีกรอบ

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเดือนมีนาคม 2561 จะมีการเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คนใหม่ แทนนายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท. คนปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งมาเกือบจะครบวาระ 2 ปีมีกระแสข่าววงในให้จับตามองว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมจะส่งผู้บริหารเข้ามาช่วงชิงตำแหน่งประธานคนใหม่หรือไม่ เพราะตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลายบริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มส่งตัวแทนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นใน ส.อ.ท ด้วยการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา พร้อมส่งผู้บริหารเข้ามานั่งในตำแหน่งประธานกลุ่มต่าง ๆ จึงเหมือนเป็นการส่งสัญญาณจากบริษัทใหญ่ที่จะกลับมาชิงตำแหน่งประธานในครั้งนี้มีความเป็นไปได้

“หากย้อนกลับไปในอดีต ประธาน ส.อ.ท.ต่างเป็นบริษัทรายใหญ่ทั้งสิ้น เนื่องจากมีอำนาจในการต่อรองสูง ซึ่งมีผลประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ต่อมาในยุคหลังเริ่มมีการสนับสนุนให้บริษัทขนาดเล็กเข้ามานั่งประธานเพื่อคานอำนาจ และยังเป็นการให้เวทีสำหรับรายเล็กเข้ามาโชว์ฝีมือบริหารบ้าง แต่จากนี้ยังต้องจับตามองว่าการที่รายใหญ่เริ่มเขยิบเข้ามากำลังจะส่งสัญญาณหรือจะมีม้ามืดท่านใดเข้ามาช่วงชิงตำแหน่งประธานคนต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่บริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จัดตั้งขึ้นมาในช่วง 2 ปีนี้ เช่น งานส่งเสริมการค้าชายแดน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และโลจิสติกส์ งานองค์กรระหว่างประเทศ งานด้านอุตสาหกรรม 4.0 โดยคณะกรรมการชุดใหม่ ๆ ที่แต่งตั้งขึ้นจะเข้ามาสอดรับกับงานที่สำคัญตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลในโครงการต่าง ๆ ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และ Thailand 4.0

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ในอีกด้านหากบริษัทใหญ่ไม่โดดลงมาชิงตำแหน่ง เป็นที่ทราบกันดีว่า การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2561 มีความเป็นไปได้สูงว่า นายเจนจะไม่ลงสมัคร เพื่อเปิดทางให้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกิตติมศักดิ์ และอดีตประธาน ส.อ.ท. กลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง เนื่องจากทั้งสองคนมีสัญญาใจสุภาพบุรุษต่อกันไว้ว่า จะสลับกันดำรงตำแหน่งคนละวาระ คราวละ 2 ปี

“หากดูจากผลงานของนายเจนและนายสุพันธ์แล้วนั้น แต่ละคนต่างมีวิธีการทำงานแตกต่างกัน ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเรื่องดี เช่น นายเจนเก่งการทำเรื่องนี้ แต่ไม่เก่งที่จะเจรจาเรื่องนั้น ขณะที่นายสุพันธ์เก่งเจรจาเรื่องนั้น แต่ไม่เก่งทำเรื่องนี้ เลยทำให้อีกคนเข้ามาทำภารกิจที่ไม่เสร็จให้สำเร็จได้ จึงเป็นการทำงานแบบช่วยคนละไม้ละมือเพื่อแผนงานระยะยาว

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือน มี.ค. 2561 ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงสมัครต่ออีกวาระหรือไม่ และอยู่ระหว่างการหารือกับสมาชิกเพื่อเตรียมวางแผนงานสำหรับปีหน้า เนื่องจากยังคงมีภารกิจที่ต้องสะสาง และหลังจากที่ได้ประชุมกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมครั้งล่าสุด เช่น การขอให้ดึงสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันรับรองมาตรฐาน ISO เข้ามาช่วย หรือการใช้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) พัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้มีศักยภาพขึ้น รวมถึงความพร้อมในการรณรงค์ภายในองค์กรที่จะร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมกับรัฐ และกระทรวงพาณิชย์ที่ให้ช่วยเรื่องกองทุนด้านการส่งออกหรือทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ที่ผ่านมาภาคเอกชนมีข้อเรียกร้องกับทางภาครัฐมาตลอด โดยผลงานที่ประสบผลสำเร็จ เช่น การขอให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เคลียร์ปัญหาการขอใบอนุญาตประทานบัตรสำหรับผู้ประกอบการเหมืองหิน จำนวนกว่า 40 ราย และในที่สุด กระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติออกประทานบัตรให้เกือบทั้งหมด ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ ในวันที่ 29 ส.ค. 2560 ส่งผลให้ปัญหาที่ค้างคามานานถูกสะสางให้กับสมาชิกที่ดำเนินธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ได้ต่อ

ขณะเดียวกัน มาตรการภาครัฐที่ช่วย SMEs จะเป็นอีกภารกิจสำคัญของ ส.อ.ท. ที่เสนอให้รัฐจัดสรรงบฯมาช่วยในการส่งเสริมพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เนื่องจาก ส.อ.ท.มีกิจกรรมจำนวนมากที่จัดโดยสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ซึ่งรัฐอาจใช้เครื่องมือหรือกลไกที่มีอยู่ เช่น กองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ (วงเงิน 20,000 ล้านบาท) หรือกองทุนอื่น ๆ ว่าจะสามารถนำมาช่วยได้อย่างไรบ้าง

สำหรับยุทธศาสตร์ของนายเจนที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2559 กำหนดไว้ 6 ด้าน 1.สร้างขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยด้วยประสิทธิภาพ ผลิตภาพ และนวัตกรรม 2.พัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 3.สร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมไทยด้วยการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ 4.สร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมไทยใช้ประโยชน์จากการเจรจาการค้า 5.พัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย และ 6.ร่วมกับภาครัฐในการสร้างปัจจัยเอื้อต่อภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน