วิเชฐ์ ตันติวานิช “DATA THON 2” จุดพลุบริการโดรน

กระแสความนิยม “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ Drone (โดรน) เริ่มมีมากขึ้น “โดรน” ทำอะไรได้มากกว่าการถ่ายภาพ “วิเชฐ์ตันติวานิช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี เอ ซี จำกัด หรือ “ซี อาเซียน” ให้โอกาส “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษถึงโครงการ DATA THON 2 ซึ่งเป็นกระบวนการกลั่นกรองไอเดียสตาร์ตอัพและการประกวดสตาร์ตอัพ ภายใต้แนวคิด Drone as a Service หรือการใช้โดรนสร้างธุรกิจบริการ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ซี อาเซียน ร่วมกับบริษัท ทีซีซี เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สปป.ลาว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บริษัท โธธ-โซเชี่ยล และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-2 ธ.ค.นี้ ขณะนี้มีผู้เข้ารอบ 8 ทีม 40 คน

Q : จุดเริ่มต้นโครงการ

ซี อาเซียนตั้งขึ้นมาโดยบริษัทไทยเบฟเวอเรจ เป็นโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรซ์ไม่แสวงหากำไร ความตั้งใจหลักว่าจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงอาเซียนใน3 ด้าน คือ ธุรกิจ ศิลปะ และวัฒนธรรม ตอนนี้มีสัญญากับทางสิงคโปร์ มาเลเซีย เพื่อดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบสตาร์ตอัพมาเชื่อมโยงกัน มีทั้งการจัดสัมมนาเอ็กซิบิชั่น จัดการแข่งขันเพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ให้เติบโตได้ทั้งในไทย และต่างประเทศ โครงการ DATA THON เป็นหนึ่งในหลายกิจกรรมที่เราทำ

สำหรับโครงการ DATA THON 1 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำเกษตร เราเห็นว่า คนรุ่นใหม่ชอบเทคโนโลยี แต่อาจจะไม่คิดว่าเกษตรเป็นธุรกิจได้ เราจึงตั้งโจทย์ว่าหากนำเทคโนโลยีมาเชื่อมกับเกษตร ในลักษณะไลฟ์แอนด์เลิร์นนิ่งให้ไปอยู่ต่างจังหวัด ลงนา ทดสอบ คลุกคลีกับเกษตรกร ศึกษาข้อมูลดึงเอาความรู้ต่าง ๆ ในการนำเทคโนโลยีเข้าไปเสริมใส่โครงการนั้น ซึ่งประสบความสำเร็จมาก เกิดสตาร์ตอัพ จึงจัดโครงการ DATA THON 2 ขึ้น ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องโดรน

Q : ทำไมจึงมุ่งเน้นโดรน

โดรนเหมือนรถไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ที่มาเปลี่ยนชีวิตเรา ไฟฟ้ากำลังจะมาแทนน้ำมัน เรื่องดิจิทัล เรื่องบิ๊กดาต้า (big data) เป็นเรื่องใหญ่ที่น่าสนใจ คนเราอยากบินได้เหมือนนกมานานแล้ว ซึ่งโดรนเข้ามาช่วยการถ่ายรูป แต่เราจับแนวคิด Drone as a Service คือ การนำโดรนมาต่อยอดทำอย่างอื่นนอกจากถ่ายรูป เช่น ไปเชื่อมกับเกษตร ฉีดยาฆ่าแมลง หว่านเมล็ดพืช หรือในต่างประเทศใช้โดรนส่งสินค้า นำอุปกรณ์การแพทย์ไปส่ง เพื่อช่วยชีวิตคนให้เร็วที่สุด เห็นโอกาสต่อยอดสู่บริการด้านอื่น ๆ

ทางซี อาเซียน คิดว่า เด็กวัยรุ่นเล่นโดรนไม่ใช่แค่ของเล่นสนุก แต่นำมาแข่งขัน และสามารถใช้หาเงินได้ด้วย กลายเป็นธุรกิจบริการ เหตุที่เราเลือกเทคโนโลยีโดรน เพราะโดรนเป็นพาหนะส่วนเทคโนโลยีอื่น เช่น AI สามารถใช้ฝังอยู่กับโดรนได้ เหมือนมีคอมพิวเตอร์ฉลาด ๆ ติดกับโดรนใช้ประมวลข้อมูลบางอย่างได้ เช่น นับต้นปีบ มีกี่ต้นในพื้นที่ 200-300 ตร.กม. แล้วต้นไม้เหล่านี้อายุเท่าไร ซึ่งเอไอสามารถวิเคราะห์ได้ หรือสำรวจหาหนูนาที่กัดกินต้นข้าวอยู่ตรงไหน มีกี่ตัว นี่เป็นพลังของเทคโนโลยีจึงเป็นเหตุให้เรามี TCC Technology เป็นพาร์ตเนอร์

Q : แนวทางการดำเนินโครงการ

ซี อาเซียน เป็นตัวเชื่อมโยง กระตุ้น จุดประกาย สร้างโอกาสให้มาแข่งขัน ทางบริษัทลีพ จีโอ พับลิก ซึ่งเป็นผู้จัดทำคลาวด์แพลตฟอร์มสำหรับนักพัฒนาให้ได้สร้างสรรค์แอปพลิเคชั่นบนคลาวด์ และมี TCC Technology เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ที่ประกาศว่าใครชนะมีรางวัลสูงสุด 100,000 บาท ถือเป็นการแข่งขันเพื่อสร้างโอกาสทำธุรกิจ เพราะสามารถจะเชื่อมในการขยายธุรกิจได้ ทาง TCC Technology เห็นโอกาสที่ควรทำ ขณะนี้มีทีม ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และทีมของลาวผ่านเข้ารอบ ในส่วนของสปป.ลาว คงเป็นพันธมิตรกับซี อาเซียนเช่นเดียวกับสิงคโปร์และมาเลเซียในไม่ช้า

ซี อาเซียนจะช่วยเชื่อมโยงไปยังสิงคโปร์ และมาเลเซีย มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างสตาร์ตอัพ 3 ประเทศ มีการจับคู่ธุรกิจกันไปบ้างแล้ว หลังจากนี้จะติดตามผลว่าสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้มากน้อยเพียงใด เราต้องการข้อมูล success case เช่น มูลค่าทางธุรกิจเพิ่ม หรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มอาเซียนได้ สมมุติไม่ค่อยสำเร็จ เราจะนำมาปรับฟอร์แมท เข้าไปนี่คือบทบาทของ ซี อาเซียน

Q : แผนงานอนาคตของ ซี อาเซียน

ตอนนี้เราเน้นสตาร์ตอัพแบบอาเซียน อาจเป็นธุรกิจเกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรม โครงการ DATA THON จะมีเฟสต่อไปแต่อาจปรับธีมอื่น ต่อไปเราอยากเป็นพาร์ตเนอร์กับหน่วยงานภาครัฐ 10 ประเทศอาเซียน

ในรูปของ DATA THON และขยายออกไปสู่พันธมิตรอาเซียน + 6 ประเทศ และมุ่งทำงานกับสำนักงานเลขานุการอาเซียน ให้ครบ 3 เสาเพื่อผลักดันคนรุ่นใหม่ (นิวเจน) มาร่วมกันคิดในแนวทาง ASEAN as One ล้อกับวิสัยทัศน์อาเซียน 2025