‘พาณิชย์’ ถกสภาธุรกิจสหรัฐฯ สร้างความเชื่อมั่น พร้อมเปิดประเทศ

‘พาณิชย์’ ถกสภาธุรกิจสหรัฐฯ สร้างความเชื่อมั่น พร้อมเปิดประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ หารือสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (USABC) พร้อม 12 บริษัทสหรัฐฯ ย้ำไทยเตรียมพร้อมเปิดประเทศ มีมาตราการรับมือโควิด-19 สร้างความเชื่อมั่นด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เร่งฟื้นฟูและยกระดับขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ ด้านสหรัฐฯ ย้ำจุดยืนเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เหนียวแน่น พร้อมสนับสนุนด้านเทคโนโลยีไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

วันที่ 17 ตุลาคม 2564 ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เป็นผู้แทนกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมการหารือผ่านระบบการประชุมทางไกล กับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S. – ASEAN Business Council: USABC) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ซึ่งนำโดยนายไมเคิล มิคาลัค รองประธานกรรมการอาวุโสและกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคของ USABC พร้อมด้วยผู้แทนจาก 12 บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมสุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ขนส่ง การผลิต การเงิน ประกอบด้วย Abbott, Adobe, Amazon, Citi, Facebook, FedEx, Ford, Google, Johnson & Johnson, MSD, UL และ Visa

ดร.สรรเสริญ กล่าวว่า ไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน โดยไทยได้ให้ความมั่นใจแก่สหรัฐฯ เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ตลอดจนการดำเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวบนฐานเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model และการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

พร้อมทั้งการให้ความสำคัญกับกติกาการค้าโลกที่โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่สร้างภาระแก่ภาคธุรกิจในการทำการค้า การขยายตลาดการค้าใหม่ๆ ผ่านการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) การค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมด้านทรัพย์สินทางปัญญา และการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และเศรษฐกิจดิจิทัลในทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

ขณะที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ ได้แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับไทยในการเสริมสร้างความสามารถด้านห่วงโซ่การผลิต การขนส่ง ระบบสาธารณสุข การท่องเที่ยว การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่บุคลากรและผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคโควิด-19 เพื่อให้ไทยและอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความแข็งแกร่งและพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น โดยในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค. 64) การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ มีมูลค่า 36,460 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.56% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 26,884 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัว 20.56%)

สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก และเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 9,576 ล้านเหรียญสหรัฐ (หดตัว 12.79%) ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น