WTO คาดการค้าโลกปี’64 โต 10.8% จี้สมาชิกลดอุปสรรคคอขวดสินค้าโควิด

การส่งออก
by STR / AFP

WTO คาดการค้าโลกปี 2564 โต 10.8% สะกิดประเทศสมาชิกลดอุปสรรคคอขวดการค้าสินค้าเกี่ยวกับโควิด ‘ไทย’ ติดท็อปอันดับ 7 จาก 27 ประเทศผู้ผลิตวัคซีนที่ภาษีนำเข้าปัจจัยการผลิตสูง

วันที่ 19 ตุลาคม 2564 น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า องค์การการค้าโลก (WTO) ออกผลการศึกษาฉบับล่าสุดเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อการค้าโลก พบว่า การค้าโลก ในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ขยายตัวถึง 46% และคาดว่าในปี 2564 จะขยายตัวที่ 10.8% โดยการแพร่ระบาดของโควิดเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวของการค้าโลก

พิมพ์ชนก วอนขอพร

และยังมีปัญหาคอขวดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโควิด ทั้งมาตรการจำกัดการส่งออก ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนและขออนุญาตต่าง ๆ ส่งผลให้การผลิตและกระจายวัคซีนโควิดทั่วโลกหยุดชะงัก เกิดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน ส่งผลต่อเนื่องไปยังการค้าและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งอัตราอากรขาเข้าสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตวัคซีนยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย

ดังนั้น การทบทวนพิจารณาเพื่อลดอัตราอากรของสินค้าข้างต้น รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาคอขวดจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการส่งเสริมการฟื้นตัวของการค้าโลกในระยะต่อไป

สำหรับสาระสำคัญ ผลการศึกษา ระบุว่า

1.ทั่วโลกผ่อนคลายการจำกัดทางการค้า และหันมาส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากขึ้น ประเทศสมาชิกใช้มาตรการจำกัดการค้า (Trade-restricting measures) ทุก ๆ ปี แต่ยังใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade-facilitating measures) ที่ครอบคลุมมูลค่าการค้าที่สูงกว่า ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การค้าสินค้าของโลกฟื้นตัวดังกล่าว

โดยสำนักเลขาธิการของ WTO ออกรายงานการใช้มาตรการทางการค้าของประเทศสมาชิก ในช่วง ต.ค. 63 – พ.ค. 64 ทั้งที่เกี่ยวข้องกับโควิดและไม่เกี่ยวของกับโควิด พบว่า 1.1 มาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับโควิด : สัดส่วนจำนวนมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าสูงขึ้น เมื่อเทียบกับมาตรการจำกัดการค้า ตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดของโควิด ประเทศสมาชิกได้ใช้มาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับโควิดแล้ว 384 มาตรการ

ซึ่งประมาณ 65% เป็นมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า หรือเป็นจำนวน 248 มาตรการ ครอบคลุมมูลค่าการค้า 291.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่เหลืออีก 136 มาตรการเป็นมาตรการจำกัดการค้า ครอบคลุมมูลค่าการค้า 205 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง 114 มาตรการในนั้นเป็นมาตรการจำกัดการส่งออก ที่ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกระจายวัคซีนและสินค้าสำคัญทางการแพทย์อื่น ๆ

1.2 มาตรการทางการค้าที่ไม่เกี่ยวกับโควิด ประเทศสมาชิกมีการใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า 61 มาตรการ ต่ำกว่าจำนวนมาตรการจำกัดการค้าที่ 70 มาตรการ ระหว่างเดือน ต.ค. 2563 และ พ.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดเป็นมูลค่าความครอบคลุมทางการค้า (Trade coverage) แล้ว มาตรการอำนวยความสะดวกทางการกลับมีมูลค่าทางการค้าสูงถึง 445 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่มาตรการจำกัดทางการค้ามีมูลค่าทางการค้าเพียง 127 พันล้านเหรียญสหรัฐ

โดยสัดส่วนมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าในมูลค่าการค้ารวมคิดเป็น 77.8% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงเวลาการทบทวนในอดีต แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ประเทศสมาชิกจะใช้มาตรการจำกัดการค้าทุก ๆ ปี แต่ก็ยังออกมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ครอบคลุมมูลค่าการค้าที่สูงกว่า ช่วงส่งเสริมการฟื้นตัวของการค้าโลก

1.3 มาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าที่ประเทศสมาชิกประกาศเริ่มไต่สวน (Initiation) ในช่วงระหว่างเดือน ต.ค. 2563 และ พ.ค. 2564 มีจำนวนต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2012 และมีค่าเฉลี่ยการเริ่มไต่ส่วนต่อเดือนที่ 19.1 เคสต่อเดือน ซึ่งต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2012 เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้ายังคงเป็นมาตรการหลักที่ประเทศสมาชิกใช้ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 67% ของมาตรการทางการค้าที่ไม่เกี่ยวกับโควิดทั้งหมดที่ประทศสมาชิกประกาศใช้ในช่วงระหว่างเดือน ต.ค. 2563 และ พ.ค. 2564

2.การขยายการผลิตและกระจายวัคซีนโควิดยังคงมีปัญหาคอขวด (Bottleneck) สำคัญหลายประการ ส่งผลให้การฟื้นตัวของการค้าแตกต่างกันตามภูมิภาค ตามรายงานที่จัดทำโดยสำนักเลขาธิการของ WTO เกี่ยวกับปัญหาสภาวะคอขวดของการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 รวมถึงวัคซีนและวัตถุดิบ

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัจจัยเสี่ยงในการขยายตัวของการค้าโลกยังคงมีอยู่ในระดับสูง และความร่วมมือระหว่างประเทศยังมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้การค้าสินค้าและปัจจัยการผลิตที่จำเป็นต่อการผลิตวัคซีนโควิดเป็นไปอย่างลื่นไหลและมีประสิทธิภาพที่สุด ได้แก่

2.1 การใช้มาตรการจำกัดการส่งออกวัคซีนและวัตถุดิบ รวมทั้งกระบวนการทางศุลกากรที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อวัตถุดิบวัคซีนบางชนิด อาทิ บางประเทศไม่อนุญาตให้วัตถุดิบในการผลิตวัคซีนผ่าน green channel หรือตัวอย่างวัคซีนที่ถูกส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศต้องผ่านพิธีการทางศุลกากรเสมือนเป็นสินค้าทั่วไป

2.2 การขึ้นทะเบียนยา การขออนุญาตจำหน่าย การตรวจปล่อย กระบวนการ Post-approval changes รวมทั้งขั้นตอนการขยายการผลิต (Scaling up) ใช้เวลายาวนาน เปลี่ยนแปลงบ่อย และไม่สอดคล้องกันระหว่างประเทศ

2.3 ปัญหาทางด้านโลจิสติกส์ในการขนย้ายวัคซีนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น การขาด Syringe และห้องเย็น

3.อากรนำเข้าสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตวัตซีนโควิดของประเทศผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลก รวมทั้งไทย ยังอยู่ในระดับสูงมาก นอกจากปัญหาด้านกฎระเบียบต่าง ๆ แล้ว สินค้าที่เกี่ยวกับโควิด โดยเฉพาะวัตถุดิบที่จำเป็น ยังคงถูกเก็บอากรนำเข้า (Average applied MFN tariff) ในระดับที่สูง ใน 23 ประเทศ จากทั้งหมด 27 ประเทศที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนที่โควิดทั่วโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิหร่าน (11.9%) คิวบา (10.3) อาร์เจนตินา (9.6%) คาซัคสถาน (8.9%) และอินเดีย (8.5%)

โดยไทยมีอัตราภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ 6.4% สูงเป็นอันดับที่ 7 ในบรรดา 27 ประเทศผู้ผลิตวัคซีน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงอย่างมีนัยสำคัญและไม่ควรเพิกเฉย (Consequential and non-negligible)

ทั้งนี้ สินค้าปัจจัยการผลิตวัคซีนโควิดที่ไทยมีอัตราภาษีนำเข้าสูง รวมทั้งมีสัดส่วนในการนำเข้าสูง ได้แก่ ถุงเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ (Bioreactor bags) อุปกรณ์การผลิตวัคซีน (Manufacturing equipment) และสารวัตถุดิบสำหรับวัคซีน (Vaccine ingredients) และไทยยังเก็บภาษีซูโครสบริสุทธิ์ในรูปของแข็ง (Chemically pure sucrose, in solid form) ซึ่งถือเป็น inactive ingredient ของการผลิตวัคซีนโควิดสูงถึง 94% สูงรองเพียงแค่อินเดียที่เก็บอากรนำเข้าสินค้าชนิดนี้ที่ร้อยละ 100