กฟผ.รับมือ ‘เปิดประเทศ+EV’ หนุนการใช้ไฟฟ้าพุ่ง 35,000 MW

ในอดีตก่อนจะมีการแพร่ระบาดของโควิด “พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า” วิ่งตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) สามารถคำนวณแนวโน้มความต้องการไฟฟ้าคู่ขนานไปกับตัวเลขจีดีพีได้อย่างแม่นยำ แต่หลังจากที่มีโควิดเป็นปัจจัยเร่งทุกอย่างทำให้โมเดลนี้ไม่สามารถนำมาใช้คำนวณได้แล้ว

เมื่อไทยกำลังจะเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนนี้ จึงต้องมาประเมินทิศทางความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงไตรมาส 4 และแนวโน้มความต้องการใช้ไฟเพิ่มอีกครั้ง

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดิมความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

แต่หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าปรับเปลี่ยนไป โดยช่วงปี 2563 ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงไปจากปี’62 ประมาณ 3%

ขณะที่ปี 2562 เพิ่มจากปี 2561 ประมาณ 3.1% ส่วนในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.)2564 จะยังใกล้เคียงเดิม คาดว่าปี 2564 ทั้งปีจะยังอยู่ที่ 190,000 ล้านหน่วย

“ตอนนี้จะเหมือนกับว่า 63 และ 64 มันตกลงไปประมาณ 3% ฉะนั้น สิ้นปีนี้ก็น่าจะไปในทิศทางเดียวกับช่วง 9 เดือนแรก คือใกล้เคียงกับของเดิม 190,000 ล้านหน่วย”

สัดส่วนการใช้ไฟบ้านเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ พบว่า สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าในส่วนของครัวเรือน “เพิ่มขึ้น” เพราะโควิด-19ทำให้ประชาชนต้องทำงานจากที่บ้าน (เวิร์กฟรอมโฮม) ขณะที่ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมก็ใช้ไฟฟ้าลดลง

“โดยปกติสัดส่วนการใช้ไฟของภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนสูงสุด อยู่ที่ 48-49% บางปีขึ้นไปถึง 52% ที่อยู่อาศัยสัดส่วน 22-24% ธุรกิจก็ใกล้เคียง 25-26% แต่ขณะนี้สัดส่วนของบ้านที่อยู่อาศัยขึ้นไป 28% ภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ เหลือ 44% ส่วนภาคธุรกิจ

เหลือ 24% ฉะนั้น แพตเทิร์นการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมมาอยู่ที่บ้านอยู่อาศัยมากขึ้น ประชาชนจึงรู้สึกได้ว่าค่าไฟแพงขึ้น ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้แพงขึ้นตัวหน่วยเท่าเดิม แต่มีการใช้พลังงานเยอะขึ้นตอนช่วงอยู่บ้าน”

เปิดประเทศใช้ไฟ “พีก”

นายประเสริฐศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ระดับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ตอนนี้อยู่ที่ 26 กิกะวัตต์ หรือ 26,000 เมกะวัตต์ เทียบกับกำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยตอนนี้มีอยู่ 46 กิกะวัตต์

เพราะฉะนั้น ถึงแม้เปิดประเทศแล้วความต้องการเพิ่มเป็น 30-35 กิกะวัตต์ (เทียบเท่ากับปี 2562 ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19) ก็ยังสามารถจ่ายไฟได้

เพราะไทยมีกำลังผลิตสำรองเหลือปริมาณมาก ซึ่งเป็นการสะสมมาตั้งแต่ปี 2561-2563 จากการที่มีการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าไว้รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่เกิดเหตุว่าเศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวตามที่คาดการณ์ ขณะที่โรงไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ตามแผน หรือเรียกว่า ดีมานด์ไม่มาตามนัด ทำให้ไทยมีสำรองไฟ (รีเสิร์ฟ) สูง

“ถามว่าการกำหนดนโยบายด้านไฟฟ้าทำผิดหรือไม่ คงตอบได้ว่าในตอนนั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็คงไม่สามารถจะคาดการณ์ได้ แต่การวางแผนผลิตไฟฟ้าจะต้องวางแผนล่วงหน้า

เพราะต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้างโรงไฟฟ้านาน 3-5 ปี อีกมุมหนึ่งหากไม่มีการลงทุนสร้างล่วงหน้า แล้วภาวะเศรษฐกิจขยายตัวดี มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น แล้วไฟฟ้าไม่พอ เกิดปัญหาไฟตกดับ นั่นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล”

เตรียมรับ “อีวี”

ในอนาคตการวางแผนการผลิตไฟฟ้ายังต้องวางแผนรองรับเทคโนโลยีใหม่ อย่างยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะเข้ามาอยู่ในระบบ โดยจะถูกจัดรวมไปคำนวณไว้กลุ่มโหลดของบ้านที่อยู่อาศัย

เพราะคนที่ซื้อรถอีวีไปใช้ ก็คงต้องเน้นเสียบชาร์จไฟที่บ้านเป็นหลัก ส่วนการไปเติมชาร์จเจอร์ระหว่างการเดินทางตามสถานีชาร์จอาจจะมีบ้าง คงไม่มาก เพราะระยะเวลาชาร์จนาน

ฉะนั้นโหลดของที่บ้านอยู่อาศัย น่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าส่วนที่เป็นธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กังวลว่าเรื่องอีวีจะทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น ทำให้โรงไฟฟ้าไม่พอ เพราะในการจัดการ PDP 2018 (rev.1) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบประกาศไปเมื่อเดือนตุลาคม 2563 วางไว้ 1.2 ล้านคันในปี 2580 โดยโหลดที่มาจากชาร์จเจอร์รถอีวี จำนวนเพิ่มเร็วขึ้น หรือร่นระยะเวลาเร็วขึ้นจากในอนาคตมาเร็วขึ้น