วิกฤต “ค่าครองชีพ” ยุคโควิด น้ำมันแพงสินค้าราคาพุ่งพรวด

ราคาน้ำมัน

ปัจจัยลบรุมโค้งท้ายปีวัว “น้ำมัน-อาหาร-ปุ๋ย-เสื้อผ้า” ปรับขึ้นราคายกแผง คนไทยอ่วมแบกภาระค่าครองชีพพุ่งพรวด นักวิเคราะห์ชี้ตลอดปี’65 ต้องกัดฟันซื้อสินค้าแพงขึ้น สาเหตุแต่ละประเทศฟื้นตัวจากโควิด-19 ไม่เท่ากัน กระทบซัพพลายเชนดันสินค้าราคาพุ่งทั้งโลก ฟันธงเศรษฐกิจไม่ถึงขั้นตกต่ำหรือชะงักงัน ต้องทำใจของแพง-รายได้หด ฉุดการบริโภคหลังเปิดเมืองไม่ร้อนแรงอย่างที่คาด

ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพภายหลังสถานการณ์ราคาพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบตลาดเบรนต์ ปรับขึ้นอีก 1.97 เหรียญสหรัฐบาร์เรล ไปอยู่ที่ 83.82 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสไปอยู่ที่ 81.04 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบดูไบ 82.14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ถือเป็นปรับขึ้นอีกหลังทุบสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปีก่อนหน้านี้ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในทิศทางเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิด ทั้งแก๊ส LNG แร่ลิเทียม ฝ้าย เหล็กที่ปรับขึ้นยกแผง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในส่วนของตลาดในประเทศราคาขายปลีกน้ำมันปรับสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน เฉพาะเดือน ก.ย.-ต.ค. 2564 ปรับราคาขึ้นรวม 11 ครั้ง อาทิ กลุ่มน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 0.5 บาทต่อลิตร กลุ่มเบนซิน 2.3 บาทต่อลิตร น้ำมัน E85 ขึ้น 1.40 บาทต่อลิตร ล่าสุดปรับขึ้นเมื่อ 18 ต.ค. เฉลี่ย 0.60 บาทต่อลิตร โดยดีเซลและ B7 อยู่ที่ 29.49 บาทต่อลิตร ดีเซล B20 ราคา 29.24 บาทต่อลิตร เบนซิน 39.66 บาทต่อลิตร

แก๊สโซฮอล์ 95 ราคา 31.75 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 ราคา 31.48 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ E20 ราคา 30.24 บาทต่อลิตร และมีสัญญาณว่าวันที่ 20 ต.ค.นี้จะปรับลดลง 0.20 บาทต่อลิตรทุกชนิดน้ำมัน

ล่าสุด สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยยื่นข้อเสนอให้รัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 25 บาทต่อลิตร และยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯเป็นเวลา 1 ปี หากรัฐไม่รับข้อเรียกร้องจะยกระดับการเคลื่อนไหวจากเบาไปหาหนัก โดยหยุดให้บริการ 10% สิ้นเดือน ต.ค.นี้ ยกเว้นการขนส่ง พลังงาน อาหาร สินค้าส่งออก

ก่อนหน้านี้ นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ต้นทุนก๊าซ LNG ปรับสูงขึ้น จะกระทบต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ LNG เป็นหลัก ทำให้อาจต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้า 5-10 สตางค์/หน่วย ช่วงต้นปี 2565

เกษตรกรโอดรายได้หด

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เกษตรกรประสบปัญหาต้นทุนการเพาะปลูกปรับสูงขึ้นมาก ทั้งปุ๋ย ราคาน้ำมันดีเซลที่ใช้ในเครื่องจักรกลการเกษตร สวนทางกับราคาขายสินค้าเกษตรที่ตกต่ำลงมาก โดยเฉพาะข้าวเปลือกเหนียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดเหลือตันละ 5,000 บาท หรือ กก.ละ 5 บาท ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อเกษตรกรตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ไปถึงปี 2565

“รัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ ข้าวจมน้ำท่วมหมดแล้ว ตอนนี้ราคาข้าวตกต่ำลงเรื่อย ๆ ภาคอีสานตอนใต้ข้าวเหนียวเหลือ กก.ละ 5 บาท ต้นทุนการเพาะปลูกสูงมากทั้งปุ๋ย น้ำมัน กำลังซื้อเกษตรกรตอนนี้ไม่มีแล้ว น่าจะลากยาวถึงปีหน้า ต้องเร่งแก้”

ธุรกิจต้นทุนพุ่ง-ขึ้นราคา

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบธุรกิจปุ๋ยกล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนการผลิตปุ๋ยเคมีปรับสูงขึ้นมาก จากแนวโน้มราคาวัตถุดิบและต้นทุนค่าขนส่ง เช่น ค่าระวางเรือ ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าลง ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิม 40-50 เหรียญสหรัฐ ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบแม่ปุ๋ยนำเข้า แต่ผู้ประกอบการประมาณ 10 ราย ยังให้ความร่วมมือกรมการค้าภายใน ลดราคาจำหน่ายปุ๋ยถึงวันที่ 30 ต.ค.นี้ รวม 84 สูตร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแม้ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เพราะไตรมาส 4 เป็นฤดูเก็บเกี่ยว ความต้องการใช้ปุ๋ย จะเริ่มใช้ปุ๋ยมากต้นปี 2565

ทั้งนี้ ได้ลดราคาขายปุ๋ย 84 สูตร รวม 4.5 ล้านกระสอบ โดยปุ๋ยสูตร 46-0-0 ราคา 775 บาท จากราคาหน้าโรงงาน 825 บาท/กระสอบ สูตร 16-20-0 ราคา 640 บาท จากราคาหน้าโรงงาน 725 บาท/กระสอบ สูตร 15-15-15 ราคา 730 บาท จากราคาหน้าโรงงาน 825 บาท/กระสอบ สูตร 21-0-0 ราคา 390 บาท จากราคาหน้าโรงงาน 450 บาท/กระสอบ

แหล่งข่าวจากผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเปิดเผยว่า ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับขึ้นเช่นเดียวกัน ขณะนี้อยู่ที่ 5,170 ริงกิตต่อตัน จากเดิม 2,000 ริงกิตต่อตัน สูงสุดในรอบ 10 ปี เป็นผลจากความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น และผลผลิตในประเทศหลักทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซียลดลง ราคาผลปาล์มในไทยขึ้นสูงสุด กก.ละ 8.40-9.00 บาท ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับขึ้นที่ กก.ละ 44 บาท เทียบกับช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ กก.ละ 40 บาท แต่ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดยังจำหน่ายตามราคาแนะนำไม่เกินขวดละ 49 บาท หากคำนวณต้นทุนการผลิตที่แท้จริงจากวัตถุดิบ CPO กก.ละ 40-44 บาท ต้องจำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดราคาขวดละ 55 บาทแล้ว

“ราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ปรับขึ้น มาจากความต้องการพลังงานทั่วโลกสูงขึ้น มีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบมากขึ้น สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในปัจจุบันอยู่ที่ 3.3-3.4 แสนตัน ยังเพียงพอต่อความต้องการใช้ทั้งการบริโภค 80,000-100,000 ตันต่อเดือน และใช้ผลิตพลังงาน”

นอกจากต้นทุนขยับสูงขึ้นแล้ว ขณะนี้ปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มยังปรับลดลง โดยเฉพาะในส่วนน้ำมันปาล์มบริโภคลดลงจากที่นักท่องเที่ยวไม่เดินทางในช่วงการล็อกดาวน์ แต่หลังจากนี้ความต้องการใช้เพื่อบริโภคจะเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ ร้านอาหาร แรงงาน นักท่องเที่ยวจะทยอยกลับมา ส่วนการลดใช้น้ำมันปาล์มดิบบริสุทธ์ (B100) เป็นส่วนผสมไบโอดีเซลจาก B7 เหลือ B6 ทำให้การใช้น้ำมันปาล์มลดลงจาก 1 แสนตันต่อเดือน เหลือ 60,000-70,000 ตัน

แพงทั้ง “หมู-อาหาร-เสื้อผ้า”

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติรายงานว่า ได้ปรับขึ้นราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม กก.ละ 12 บาท ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรชำแหละปรับขึ้นไป กก.ละ 6 บาท สาเหตุหลักมาจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ขยับขึ้นตามราคาในตลาดโลก ทั้งข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศได้รับผลกระทบ และกระทบต่อเนื่องถึงผู้เลี้ยงสุกร เช่นเดียวกับกลุ่มผักและผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ต้นทุนค่าขนส่งต้องปรับขึ้นราคา

ด้านนายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ส.อ.ท. และประธานสมาพันธ์สินค้าไลฟ์สไตล์ เปิดเผยว่า ผลจากการปรับขึ้นราคาฝ้ายทั่วโลกสูงสุดในรอบ 10 ปี เป็น 1.10 เหรียญสหรัฐ/ปอนด์ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.67 เหรียญ/ปอนด์ ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาเสื้อผ้าสำเร็จรูปขึ้นอีก 10-15% เช่นเดียวกัน

ส่วนนายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธาน กรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซี แวลู และ บมจ.ยูนิคอร์ด กล่าวว่า แผ่นเหล็กสำหรับบรรจุภัณฑ์ปลากระป๋องที่ปรับขึ้น 15% จะทำให้ราคากระป๋องขยับขึ้น 15-20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤตพลังงานในจีน

สอดคล้องกับที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า อุตสาหกรรมหนักของประเทศไทยอย่างเหล็ก อะลูมิเนียม ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตพลังงานจีน เนื่องจากต้องนำเข้าวัตถุดิบเข้าใช้ในหลายอุตสาหกรรมทำบรรจุภัณฑ์กระป๋องเคมีต่าง ๆ รวมถึงยานยนต์ที่ปัจจุบันยังคงได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิปอยู่แล้ว

ผลราคาสินค้าน้ำมันพุ่งสูงสุด

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ก.ย. 2564 เท่ากับ 101.21 เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 1.59% เป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังหดตัวในเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) เพิ่มขึ้น 0.83% คาดว่าเงินเฟ้อไตรมาส 4 ขยายตัว 1.4-1.8% สนค.ได้ปรับประมาณเงินเฟ้อปี 2564 ใหม่ จากเดิม 0.7-1.2% ค่ากลางที่ 1.2% เป็น 1% บวกลบ 0.2% หรือระหว่าง 0.8-1.2%

การปรับขึ้นของเงินเฟ้อเดือน ก.ย.พบว่า แม้หมวดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ภาพรวมลดลง 1.16% แต่ในกลุ่มนี้มีสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น คือ ไข่และผลิตภัณฑ์นม บวก 3.76% แต่ที่ปรับสูงมากก็คือ เครื่องประกอบอาหาร บวก 4.81% ตามมาด้วยสินค้าอาหารบริโภคในบ้านและอาหารบริโภคนอกบ้าน ปรับขึ้น 0.32% และ 0.28%

หมวดสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ปรับขึ้น 3.60% หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ปรับขึ้น 10.08% หมวดนี้มีน้ำหนักในการคำนวณเงินเฟ้อ 23.28% สินค้าที่ปรับราคาสูงสุด คือ “น้ำมันเชื้อเพลิง” เพิ่มขึ้นถึง 32.44% ตามมาด้วยค่าโดยสารสาธารณะปรับขึ้น 0.61% ค่าตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคลปรับขึ้น 0.31% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ปรับขึ้น 0.03%

ยันไทยยังไม่เกิด Stagflation

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ขณะนี้ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะ stagflation หรือเศรษฐกิจตกต่ำ หรือชะงักงันเหมือนบางประเทศแม้ราคาสินค้าสูงขึ้น แต่เป็นการปรับขึ้นในกลุ่มสินค้าเกษตร/อาหาร และราคาน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม วิกฤตพลังงานจะกระทบต่อการผลิตและจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มปุ๋ย จะกระทบต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ขณะที่ภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขยับสูงขึ้นจะกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันและต้นทุนค่าขนส่ง และภาวะน้ำท่วม แต่ไม่ใช่กระทบต่อค่าครองชีพ

ชี้ฟื้นไม่เท่ากันสินค้าแพงทั่วโลก

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยเจอผลกระทบค่าครองชีพที่แพงขึ้นแล้ว เพราะเติมน้ำมันที่ปั๊มราคาน้ำมันก็แพงขึ้น แม้รัฐบาลจะควบคุมราคาน้ำมัน แต่ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกย่อมส่งผ่านไปในทางใดทางหนึ่ง ยังมีปัจจัยไฟฟ้าขาดแคลนในเมืองจีนอีก สะท้อนว่าการผลิตทั่วโลกเริ่มขาดแคลน จะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นอีกระยะหนึ่ง

“ทุกอย่างจะแพงขึ้น เหมือนว่าทุกคนต้องจ่ายภาษีแพงขึ้น ปกติเราจ่ายน้ำมันรถเดือนละ 3,000 บาท อาจเพิ่มเป็น 4,000-5,000 บาท ดังนั้น เงินที่เราจะใช้จ่ายซื้อของอย่างอื่นก็อาจลดลง”

ปัจจุบันไทยไม่ได้เสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อสูง เพราะเศรษฐกิจไทยยังแย่อยู่ แต่ความเสี่ยงคือ ต้นทุนสินค้าแพงขึ้น คนเดือดร้อนคือผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบเป็นคนแรกที่เจอราคาน้ำมันแพง

“ปัจจุบันกระบวนการผลิตสินค้าจะเชื่อมโยงกันทั่วโลก เช่น อาจออกแบบในแคลิฟอร์เนีย แต่ส่งไปผลิตที่ไต้หวัน หรือบางสินค้าใช้ซัพพลายจากหลายประเทศ เช่น ไทย มาเลเซีย เวียดนาม นำไปประกอบที่เมืองจีน แล้วส่งออกไปขาย พอโรงงานในบางประเทศปิดก็จะกระทบทำให้ผลิตไม่ได้ พอเกิดภาวะที่โลกฟื้นตัวไม่เท่ากัน การผลิตจึงไม่ได้กลับไปที่เดิมก่อนเกิดโควิด-19 จะประกอบร่าง เลยประกอบไม่ได้”

ค่าครองชีพสูงยาว 1 ปี

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้นมีแนวโน้มลากยาวถึงไตรมาส 3 ปี 2565 กินเวลาเกือบ 1 ปี อย่างปัญหาขาดแคลนชิป การแก้ปัญหาให้กลับมาเหมือนเดิมไม่ได้ง่าย และเชื่อว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวสูงไปอีกนาน เนื่องจากขณะนี้ตลาดเป็นของผู้ผลิต และตลาดมีความต้องการน้ำมันสูง แต่เมื่อใดราคาน้ำมันขึ้นไปจนกระทบความต้องการเริ่มลดลง ผู้ผลิตน้ำมันจึงจะเพิ่มกำลังการผลิต

“ราคาน้ำมันคงจะเลี้ยงอยู่ในระดับ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลไปเรื่อย ๆ เพราะระดับนี้ไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกพัง ตอนนี้ตลาดกลับไปเป็นของผู้ผลิตอีกครั้ง เขาก็เลี้ยงราคานี้ไปเพื่อทำกำไร ถ้าปล่อยราคาขึ้นไปทะลุ 100 เหรียญ เศรษฐกิจโลกจะแย่”

หากค่าครองชีพสูงขึ้นไปเช่นนี้ สิ่งที่ทั่วโลกกังวลคือ แม้ราคาพลังงานอาจเป็นปัญหาชั่วคราว แต่จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อค้างอยู่ระดับสูงเป็นเวลานาน

ฉุดบริโภคหลังเปิดเมืองไม่แรง

ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มราคาพลังงาน และน้ำมันที่สูงขึ้น กระทบค่าครองชีพคนไทย ยังต้องติดตามว่าที่มีข่าวว่าจะปรับขึ้นค่าไฟฟ้าหลังปีใหม่ไปแล้วจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือรัฐจะตรึงราคา ซึ่งต้องใช้งบประมาณเข้ามาช่วย ต้องติดตาม

ที่กังวลกันคือ ราคาสินค้า ค่าครองชีพที่สูงขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจยังฟื้นไม่ทัน แม้ไม่ถึงขั้น stagflation ที่เศรษฐกิจต้องไม่มีการเติบโตด้วย แต่ตอนนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว ปีหน้าก็คาดการณ์ว่าจะโตดีกว่าปีนี้ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทุเลาลง แต่ของแพงขึ้นจะทำให้การบริโภคไม่เติบโตร้อนแรงอย่างที่คาด

ส่วนค่าเดินทางที่แพงขึ้นแม้ไม่ถึงขั้นกระทบการตัดสินใจออกท่องเที่ยว เพราะสุดท้ายความกังวลเรื่องโควิดยังเป็นประเด็นหลักมากกว่าแต่ก็มีผล

“แม้ไม่ถึงขั้น stagflation แต่เงินเฟ้อน่าจะสูงขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ และต้องปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคไม่ร้อนแรงอย่างที่คาดการณ์ไว้ เมื่อเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นคนจะออกมาใช้จ่าย เมื่อของแพง การใช้จ่ายก็อาจไม่ได้แรงอย่างที่คาด สถานการณ์แบบนี้เป็นทั่วโลก เดิมการเปิดประเทศก็อยากเห็นว่าได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่เจอแบบนี้ ผลก็ได้ไม่เต็มร้อย” ดร.เชาว์กล่าว