กพร. ย้ำคดีเหมืองทองอัคราฯ อนุญาโตตุลาการยังไม่ชี้ขาด

ข้อพิพาทไทย-คิงส์เกตฯ ปะทุขึ้นอีกระลอกหลังการเมืองจี้ “บิ๊กตู่” ชดใช้ค่าโง่แพ้คดีเหมืองทองอัครา ด้าน “กพร.” ย้ำยังไม่มีการออกคำตัดสินชี้ขาดใดๆ ทั้งสิ้น ยังคงอยู่ในระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการ

วันที่ 21 ตุลาคม 2564 นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรณีข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด (ประเทศออสเตรเลีย) ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตรและเพชรบูรณ์ “ยังคงอยู่ในระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการ” และ “ยังไม่มีการออกคำตัดสินชี้ขาดใดๆ ทั้งสิ้น” พร้อมทั้งคู่พิพาททั้ง 2 ฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน ซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่ดำเนินการคู่ขนานไปกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและที่ปรึกษากฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสากล ในการดำเนินการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการอย่างรอบคอบ รัดกุม และเป็นเอกภาพ สำหรับแนวทางการเจรจายึดถือประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นหลัก ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นธรรมต่อประชาชน ชุมชนในพื้นที่ และผู้ประกอบการ

สำหรับข้อพิพาทกรณีรัฐบาลไทย เกิดขึ้นช่วงที่โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในยุค คสช. ออกคำสั่งระงับการประกอบกิจการเหมืองทองคำชาตรี ครอบคลุมบนพื้นที่ 3 จังหวัด (พิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 หลังจากชุมชนรอบเหมืองได้รับผลกระทบจากการรั่วซึมของบ่อเก็บกากแร่ ที่คาดว่าทำให้สารเคมีอย่างไซยาไน ไหลปนเปื้อนมายังชุมชน จนทำให้ชาวบ้านมีอาการป่วย ตรวจพบสารหนูในเลือด เป็นต้น


เหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทคิงส์เกตฯ ได้กล่าวฟ้องรัฐบาลไทยดำเนินการปิดเหมืองทองคำโดยไม่ชอบเ ป็นการกระทำที่ละเมิดข้อตกลงว่าด้วยการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายไม่สามารถทำเหมืองติดต่อกันเป็นระยะเวลาถึงปัจจุบัน หรือกว่า 4 ปีแล้ว