WTO มองการค้าโลก ปี’65 ฟื้นไข้

WTO

การปรับประมาณตัวเลขการค้าโลกครั้งล่าสุดขององค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อ 4 ตุลาคม 2564 สูงขึ้นกว่าการประมาณการในรอบเดือนมีนาคม 2564 ผลจากการกระจายฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เริ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ได้ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรจำนวนมาก ทั้งยังมีการคิดค้นยาและนวัตกรรมการแพทย์ออกมา ล้วนแต่ส่งผลต่อการฟื้นเศรษฐกิจโลก

WTO จึงปรับคาดการณ์ว่าการค้าโลกในปี 2564 จะขยายตัว 10.8% ปรับสูงขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือนมีนาคม 8% และปี 2565 จะขยายตัว 4.7% เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 4% เป็นผลจากสัญญาณการฟื้นตัวของตัวเลขจีดีพีโลกที่คาดว่าจะขยายตัว 5.3% เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่ 5.1% ทำให้การค้าโลกในไตรมาส 2 ที่เติบโต 22% ส่วนสัญญาณเศรษฐกิจปี 2565 จีดีพีโลกอาจจะขยายตัว 4.1%

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา ระบุว่า WTO ปรับคาดการณ์การค้าโลกปี 2564 สูงขึ้น เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยจากข้อมูลราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้า พบว่าราคาน้ำมันดิบ ทองแดง และเหล็กกล้าสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 ถือเป็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั่วโลก

อีกทั้งประเทศสมาชิก WTO มีแนวโน้มลดการใช้มาตรการและข้อจำกัดทางการค้า (trade-restrictive measures) และเพิ่มมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า (trade-facilitating measures) มากขึ้น นับเป็นสัญญาณที่ดีของการส่งออกไทย

โดยในรายงาน Goods Trade Barometer ซึ่งเป็นมาตรวัดแนวโน้มการค้าโลกที่ทันเหตุการณ์ฉบับล่าสุดของ WTO ระบุว่า ดัชนีการค้าสินค้า (Goods Trade Barometer) พุ่งขึ้น 110.4 สูงที่สุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่เริ่มคำนวณเมื่อปี 2016 สะท้อนการฟื้นตัวของการค้าโลก ดัชนีย่อยทั้งหมดต่างมีค่า “สูงกว่าค่าแนวโน้ม”

อาทิ ดัชนีการขนส่งทางอากาศ การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ การผลิตรถยนต์ ยกเว้นเพียงดัชนีส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงเล็กน้อยจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และดัชนีการสั่งซื้อเพื่อการส่งออกก็ลดลงเล็กน้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การที่ Goods Trade Barometer ขยายตัวในอัตราที่ลดลงแสดงให้เห็นว่าการค้าโลกอาจใกล้แตะจุดสูงสุด และจะไม่เพิ่มสูงขึ้นเหมือนก่อน

นอกจากนี้ จากผลการศึกษายังระบุอีกว่า ตลาดนำเข้าหลายภูมิภาคตอนนี้ขยายตัวแข็งแกร่งตามแนวโน้มการค้าโลกที่เพิ่มขึ้น ในปี 2564 โดยเฉพาะอเมริกาใต้คาดว่าจะขยายตัวสูงที่สุดที่ 19.9% ตามด้วยกลุ่ม CIS ขยายตัว 13.8% และอเมริกาเหนือ ขยายตัว 12.6% แม้กระทั่งยุโรปขยายตัวที่ 9.1% (ตาราง) อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ตลาดตะวันออกกลางกลับมาขยายตัวสูงที่สุด 8.7% และยุโรปขยายตัว 6.8%

ส่วนสินค้าที่ขยายตัวสูงในไตรมาส 2 ปี 2564 ได้แก่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า ถือเป็นสัญญาณล่วงหน้าถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งสินค้าที่ใช้ภายในบ้าน เช่น ของเล่น เกม อุปกรณ์กีฬา เฟอร์นิเจอร์ กระเป๋าถือ เสื้อผ้า และรองเท้า

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาคการค้าบริการ ขยายตัว 102.5 ถือว่ายังช้ากว่าภาคการค้าสินค้า โดยในไตรมาสแรกปีนี้ การค้าบริการหดตัว 9.0% เป็นผลจากการเดินทางระหว่างประเทศยังมีข้อจำกัดทำให้การเดินทาง (travel) หดตัว 62% ดังนั้น ภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวจึงยังไม่สามารถเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

“การขยายตัวทางการค้า แต่ละภูมิภาคยังไม่เท่ากัน โดยประเทศยากจนจะขยายตัวช้า ขณะที่ประเทศรายได้สูงจะขยายตัวเร็วกว่า จากสาเหตุสำคัญ คือ การผลิตและกระจายวัคซีนที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกผลิตและกระจายวัคซีนได้เพียง 6 ล้านโดสเท่านั้น และสัดส่วนของประชากรในประเทศรายได้ต่ำที่ได้รับวัคซีน 1 โดส มีเพียง 2.2% เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นแหล่งกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสด้วย”

“เรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะประเทศยากจนที่มีอยู่ประมาณ 34 ประเทศ ยังมีปัญหาหนี้ (sovereign debt) พอกพูนมากขึ้นทุกวัน ประเทศเหล่านี้ต้องนำงบประมาณประเทศไปชำระหนี้ ไม่มีงบประมาณด้านสาธารณสุขเพียงพอ ซึ่งรวมถึงการจับจ่ายเพื่อนำเข้าสินค้าจำเป็นด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 การส่งออกไทยยัง “ขยายตัวต่ำกว่า” โลก โดยไตรมาส 1 การส่งออกโลกขยายตัว 17% ส่วนไทยขยายตัว 2.1% และการส่งออกไตรมาส 2 ของโลก ขยายตัว 45% ไทยขยายตัว 31.85%

ซึ่งแม้ว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวในอัตราที่ช้า แต่ยังเป็นความหวังในการฟื้นเศรษฐกิจในปีนี้ เพราะรายได้จากภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์อีกตัวในการผลักดันเศรษฐกิจไทย ก็ยังมีความหวังน้อยจากปัญหาการเดินทางทั่วโลกที่ยังหดตัว


ดังนั้น แม้ผลการศึกษา WTO ชี้ว่าการค้าโลกปี 2565 จะฟื้นไข้ แต่การจะฟื้นตัวเร็วหรือช้า ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ “เรื่องวัคซีน” เป็นตัวหลัก เพราะจะผูกโยงกับภาคบริการ การท่องเที่ยว การขนส่งและการบิน ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก ขณะที่การค้าสินค้ายังมีปัจจัยลบบางเรื่อง เช่น การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ที่ทำให้การผลิตบางสินค้าอาจลดลง ซึ่งในส่วนนโยบายส่งออกของไทยต้องปรับให้สอดคล้องกับภูมิภาค และโฟกัสไปที่ตลาดที่ฟื้นตัวสูง