เร่งระบายน้ำท่วมขังเจ้าพระยา-ท่าจีน สั่งเข้มภาคใต้เตรียมรับมือฤดูฝน

กรมชลประทานเดินหน้าเร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและท่าจีนอย่างต่อเนื่อง แม้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนเริ่มลดลง จับตาภาคใต้ใกล้เข้าสู่ฤดูฝน สั่งเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก ขณะที่โคราชเร่งระบายน้ำในลำตะคองและลำเชียงไกรลงสู่แม่น้ำมูล

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (25 ต.ค. 2564) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 57,556 ล้าน ลบ. หรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 33,625 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 18,969 ล้าน ลบ.ม.

ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,133 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯเป็นน้ำใช้การได้ 7,437 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 10,803 ล้าน ลบ.ม.

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน (25 ต.ค. 2564) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,517 ลบ.ม.วินาที แนวโน้มลดลง ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,698 ลบ.ม./วินาที ในขณะที่ทางด้านของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบายน้ำในอัตรา 600 ลบ.ม./วินาที และจะพิจารณาปรับลดการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความมั่นคงของอาคารชลประทาน และผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนเป็นหลัก

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 24-27 ต.ค. 2564 ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนลดลง ในช่วงวันที่ 28-30 ต.ค. 2564 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนระลอกใหม่จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้

ลักษณะเช่นนี้ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทาน ในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะบริเวณภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ ให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด พร้อมทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้มากที่สุด

สำหรับจังหวัดนครราชสีมา ยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีน้ำท่าปริมาณมากไหลลงสู่ลำตะคอง ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ 7 อำเภอ ได้แก่ สีคิ้ว สูงเนิน เมืองนครราชสีมา คง ด่านขุนทด โนนไทย และโนนสูง ซึ่งก่อนหน้านี้กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ด้วยการพร่องน้ำในลำน้ำลำตะคองและลำบริบูรณ์ พร้อมกับหยุดการระบายน้ำจากเขื่อนลำตะคอง ตั้งแต่วัน 17 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ท้ายเขื่อนลำตะคอง อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับฝนที่อาจจะตกลงมาอีก รวมทั้งรักษาระดับน้ำในเขื่อนลำตะคองให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม

ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม 2564 เขื่อนลำตะคอง จะระบายน้ำอีกครั้งในเกณฑ์ประมาณ 10-20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) โดยไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อน ทั้งนี้ น้ำที่ระบายจะเดินทางมาถึงอาคารแบ่งน้ำละลมหม้อใช้เวลาประมาณ 4 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลายมากขึ้นแล้ว

ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักและมีน้ำท่า (Side Flow) ปริมาณมาก นั้น ปัจจุบันปริมาณน้ำสูงสุดได้เคลื่อนผ่านประตูระบายน้ำข่อยงามและประตูระบายน้ำจอหอแล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำบริเวณอำเภอเมืองนครราชสีมา มีแนวโน้มลดลง หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติม สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2-3 วันนี้