ภารกิจ รมช.พาณิชย์คนใหม่ “สินิตย์ เลิศไกร” ส.ส.สุราษฏร์ธานี

สินิตย์ เลิศไกร 8 เดือนประเดิมงาน รมช.พาณิชย์คนใหม่

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีในหลายกระทรวง หนึ่งในนั้นก็คือ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรรคภูมิใจไทย ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

เป็นกระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยได้รับโควตาในการบริหารงาน ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการเสนอให้ นายสินิตย์ เลิศไกร ส.ส.สุราษฎร์ธานี เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนนายวีรศักดิ์ นัยว่า เพื่อให้การบริหารจัดการในกระทรวงพาณิชย์มาจากรัฐมนตรีพรรคเดียวกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์วิสัยทัศน์การทำงานของรัฐมนตรีช่วยว่าการท่านใหม่ หลังจากที่ได้รับมอบหมายงานจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

งานที่ได้รับมอบหมาย

งานที่ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้รับผิดชอบดูแลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมทรัพย์สินทางปัญญา, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

และ 3 องค์การมหาชนที่กระทรวงพาณิชย์กำกับดูแลอยู่ ได้แก่ สถาบันอัญมณีและเครื่องประดับไทย,สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา

ดัน e-Marketplace

แม้สถานการณ์โรคโควิด-19 ยังมีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การประกอบธุรกิจต้องดำเนินต่อไป ผมได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจและประชาชนอย่างเต็มที่

โดยการสร้างความมั่นใจการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ที่จะให้มีความปลอดภัยและรวดเร็ว พร้อมกำชับให้เร่งพัฒนากระบวนงานการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ให้ครอบคลุมทั้งระบบ เร่งเพิ่มเสริมทักษะด้านการบริหารจัดการธุรกิจผ่านระบบ e-Learning

โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ผู้ประกอบการได้หันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุด เพื่อก้าวสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์แบบอย่างรวดเร็ว เน้นการเข้าใช้งานที่ง่าย สะดวก และรวดเร็ว

ประกอบกับสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากการระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการได้ใช้ช่องทางออนไลน์มาก ในขณะที่การจำหน่ายสินค้าในรูปแบบของการค้าปกติ

ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน ทำได้ยากขึ้น จึงได้กำชับให้กรมพัฒนาธุรกิจ เร่งสร้างโอกาสทางการค้าและขยายช่องทางการตลาดให้เกษตรกร ชุมชน SMEs ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ให้ได้สูงสุด

ด้วยการเข้าไปจัดอบรมให้ความรู้ รวมถึงการช่วยให้สินค้าเหล่านี้เข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์ม “ตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace)” ต่าง ๆ ตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

รัฐบาลให้ความสำคัญกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อต้องการสร้างรายได้ให้ชุมชน เกษตรกร ยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็งและยั่งยืน กรมทรัพย์สินทางปัญญา

ในฐานะหน่วยงานที่ดูแล ต้องพร้อมส่งเสริมการคุ้มครอง GI ทั้งในไทยและต่างประเทศ เรามีเป้าหมายต้องการให้มีสินค้า GI ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ จากปัจจุบันมีสินค้า GI ของไทยที่ขึ้นทะเบียนไปแล้วทั้งสิ้น 136 รายการ ครอบคลุม 76 จังหวัด

คาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับสินค้า GI ให้สูงขึ้น สามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดโดยรวมได้กว่า 36,000 ล้านบาท

ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ผลักดันการขึ้นทะเบียนสินค้า GI อย่างต่อเนื่อง ทำให้ตอนนี้มีสินค้า GI ขึ้นทะเบียนไปแล้ว 141 รายการ ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศซึ่งก็จะเร่งผลักดันต่อไปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและรายได้ให้ชุมชน โดยเรามีเป้าหมายสิ้นปี 2564 จะมีสินค้า GI ขึ้นทะเบียนได้ 152 รายการครอบคลุมทั้งประเทศงานคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

การปกป้องคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้ทำงานบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเจ้าของสิทธิ พร้อมเดินหน้าปราบปรามการละเมิดอย่างจริงจัง

ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมาก็ได้ทำพิธีทำลายของกลางที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศ นักลงทุน คู่ค้าสำคัญของไทย ในข้อที่ว่า สินค้าที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่ถูกนำกลับมาหมุนเวียนในท้องตลาดอีก

โดยในปีนี้มีของกลางที่ถูกนำมาทำลายทั้งสิ้นจำนวน 572,076 ชิ้น อาทิ เสื้อผ้า, กระเป๋า, เข็มขัด, รองเท้า, นาฬิกา, โทรศัพท์มือถือ และเครื่องสำอาง โดยเป็นของกลางจากการจับกุมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 56,501 ชิ้น

กรมศุลกากร 435,049 ชิ้น และกรมสอบสวนคดีพิเศษอีก 80,526 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาเองก็ได้เชิญชวนทุกคน “ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ใช้ของปลอม” หากพบเห็นแจ้งเบาะแสสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร.1368

ให้เร่งเจรจา FTA

ผมได้สั่งการไปให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งดำเนินภารกิจสำคัญ ได้แก่ เจรจาหาข้อสรุปความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ยังคงค้าง อาทิ ไทย-ตุรกี, ไทย-ปากีสถาน และไทย-ศรีลังกา ซึ่งประเทศเหล่านี้จะเป็นประตูการค้าให้ไทยเข้าสู่ภูมิภาคต่าง ๆ เช่น เอเชียใต้ ยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง รวมทั้งปรับปรุง FTA ที่มีอยู่ในปัจจุบันกับคู่ค้าที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูง

เช่น อาเซียน-จีน, อาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-เกาหลีใต้ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนของไทย โดยสามารถดำเนินการหารือได้ทันที ซึ่งจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเดินหน้าก็จะผ่านระบบการประชุมทางไกล ออนไลน์

พร้อมกันนี้ก็ได้เตรียมการฟื้นและเปิดการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญต่าง ๆ อาทิ สหภาพยุโรป (EU) สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และแคนาดา เป็นต้น เพื่อหาตลาดใหม่และสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าส่งออกของไทยในต่างประเทศ

เรามีการลงพื้นที่แนะนำผู้ประกอบการในการใช้สิทธิประโยชน์ที่ประเทศไทยมีอยู่ล่าสุดก็ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และก่อนหน้านี้ก็ไปจังหวัดเลยเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้ประโยชน์ใหม่มากขึ้น เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศ

ตั้งกองทุน FTA เยียวยา

ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำความตกลง FTA นั้นเราได้เร่งเดินหน้าจัดตั้ง “กองทุน FTA” โดยพร้อมสนับสนุนและผลักดันในระดับนโยบายให้สามารถออกกฎหมายเพื่อรองรับเรื่องนี้โดยเร็ว

รวมทั้งเร่งสร้างความเข้าใจและช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ SMEs ในภูมิภาค ให้ได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น อาเซียน, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, อินเดีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ ซึ่งได้ลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าส่งออกจากไทยแล้ว

และให้จับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าในต่างประเทศ โดยให้วางแผนและเตรียมความพร้อมลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ, กรมส่งเสริมสหกรณ์ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)


ตั้งเป้าจะขยายตลาดและช่วยหาคู่ธุรกิจให้กับกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่ประสบปัญหาไม่สามารถหาคู่ค้าได้ในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งก็พร้อมจะช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ เพื่อให้พ้นวิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นและพร้อมแข่งขันในตลาดโลกด้วย