จับตาพายุดีเปรสชั่น ลูกใหม่ อ่างขนาดกลางอีสาน-ตะวันออกน้ำล้นทะลัก

อ่างเก็บน้ำ

จับตาหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนตอนใต้มีโอกาสพัฒนาเป็นพายุดีเปรสชั่นลูกใหม่ พร้อมขึ้นฝั่งเวียดนามตอนใต้เข้ากัมพูชาทะลุมาประเทศไทย ส่งผลให้ฝนตกหนักในภาคตะวันออก-อีสานตอนล่าง หวั่นเกิดน้ำท่วมใหญ่ เหตุอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง-ใหญ่ในพื้นที่รับน้ำเกินกว่าความจุอ่าง 100% ไปแล้ว เตือนให้เร่ง “พร่องน้ำ” เตรียมรับมือพายุจากการระบายน้ำตอนนี้ที่เน้นปริมาณน้ำไหลเข้าเท่ากับน้ำระบายออกเสียเป็นส่วนใหญ่ เกรงจะไม่ทันการณ์

วิกฤตการณ์น้ำท่วมอันเนื่องมาจากพายุพัดผ่านเข้าสู่ประเทศไทยหลาย ๆ ลูกติดต่อกันยังไม่คลี่คลาย แม้ว่าพายุโซนร้อน “หมาเหล่า” ที่ปกคลุมบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจะไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย แต่ยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทวีกำลังแรงขึ้น โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่างในระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคมนี้

ขณะที่ทาง “ทีมกรุ๊ป” คาดการณ์ว่าหย่อมความกดอากาศต่ำที่จะพัฒนาเป็นพายุดีเปรสชั่นลูกใหม่ อาจจะส่งผลกระทบมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศเวียดนาม-กัมพูชา และลาวตอนใต้ ตั้งแต่บริเวณเมืองตวีฮหว่า-ญาจาง-โฮจิมินห์ซิตี-พนมเปญ-สตรึงเต็ง และมีฝนตกปานกลางที่บริเวณเมืองปากเซ สปป.ลาว ส่วนบริเวณประเทศไทยยังไม่แน่ว่าจะมีฝนตกหนักในภาคตะวันออก ฝนตกปานกลางในภาคกลางตอนล่างกับภาคตะวันตกของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรจับตาและมีการเตรียมการรับมือหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในพื้นที่ภาคอีสาน-ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ก็กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมมาก่อนหน้านี้จากอิทธิพลของพายุหลายลูกที่พัดผ่านเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุหมาเหล่า ปรากฏมีอ่างเก็บน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 12 แห่งที่มีปริมาตรน้ำเกินกว่า 90% ของความจุอ่าง ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง 332 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 105%, ลำพระเพลิง 155 ล้าน ลบ.ม. หรือ 100%, มูลบน 146 ล้าน ลบ.ม. หรือ 104%, ลำแชะ 272 ล้าน ลบ.ม. หรือ 99%,

ลำนางรอง 114 ล้าน ลบ.ม. หรือ 94%, สิรินธร 1,777 ล้าน ลบ.ม. หรือ 90%, ป่าสักชลสิทธิ์ 1,009 ล้าน ลบ.ม. หรือ 105%, ทับเสลา 163 ล้าน ลบ.ม. หรือ 102%, ขุนด่านปราการชล 224 ล้าน ลบ.ม. หรือ 100%, หนองปลาไหล 193 ล้าน ลบ.ม. หรือ 118%, ประแสร์ 292 ล้าน ลบ.ม. หรือ 99% และนฤบดินทรจินดา 313 ล้าน ลบ.ม. หรือ 106%

กราฟิกอ่างเก็บน้ำ

โดยอ่างเก็บน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้มีหลายอ่างที่เริ่มระบายน้ำออก ยกตัวอย่าง ลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำไหลเข้า 1.31 ล้าน ลบ.ม./วัน ปริมาณน้ำระบาย 2.47 ล้าน ลบ.ม./วัน, มูลบน น้ำไหลเข้า 1.33 ล้าน ลบ.ม./วัน น้ำระบาย 1.46 ล้าน ลบ.ม./วัน, ลำแชะ น้ำไหลเข้า 1.64 ล้าน ลบ.ม./วัน ระบาย 2.07 ล้าน ลบ.ม./วัน

ป่าสักชลสิทธิ์ น้ำไหลเข้า 45.31 ล้าน ลบ.ม./วัน ระบาย 51.88 ล้าน ลบ.ม./วัน และเขื่อนนฤบดินทรจินดา น้ำไหลเข้า 3.26 ล้าน ลบ.ม./วัน ระบาย 4.80 ล้าน ลบ.ม./วัน แต่เป็นการระบายน้ำออกจากอ่างให้เท่ากับหรือใกล้เคียงกับปริมาณน้ำไหลเข้า ยังไม่ใช่การ “พร่องน้ำ” ออกจากอ่างเพื่อเตรียมตัวที่จะรับมือกับ “หมาเหล่า” ที่อาจจะพัฒนาขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่นลูกใหม่ได้

ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง-ภาคตะวันออก-ภาคกลางตอนล่าง ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ที่คาดการณ์ว่าจะได้รับอิทธิพลฝนตกหนักถึงหนักมากจากพายุลูกนี้ปรากฏอ่างเก็บน้ำเกือบร้อยละ 90 ในพื้นที่ตกอยู่ในสภาพมี “น้ำล้นเกินความจุอ่าง” ไปแล้ว อาทิ อ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือ (อุบลราชธานี) 36 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 109% ของความจุอ่าง, อ่างห้วยตามาย (ศรีสะเกษ) 40.53 ล้าน ลบ.ม. หรือ 108%,

อ่างอำปึล (สุรินทร์) 34.79 ล้าน ลบ.ม. หรือ 125.7%, อ่างห้วยเสนง (สุรินทร์-แหล่งน้ำดิบของ อ.เมือง) 30.006 ล้าน ลบ.ม. หรือ 136%, อ่างห้วยจระเข้มาก (บุรีรัมย์) 28.02 ล้าน ลบ.ม. หรือ 107%, ลำปะเทีย (บุรีรัมย์) 27.62 ล้าน ลบ.ม. หรือ 108%

ลำปลายมาศ (นครราชสีมา) 98.65 ล้าน ลบ.ม. หรือ 100%, ลำสำลาย (นครราชสีมา) 45.71 ล้าน ลบ.ม. หรือ 108%, ห้วยซับประดู่ (นครราชสีมา) 29.01 ล้าน ลบ.ม. หรือ 104%, คลองไม้ปล้อง (ปราจีนบุรี) 11.42 ล้าน ลบ.ม. หรือ 100%, พระปรง (สระแก้ว) 114.350 ล้าน ลบ.ม. หรือ 117%, คลองระบม (ฉะเชิงเทรา) 55.80 ล้าน ลบ.ม. หรือ 100%

คลองหลวง รัชชโลทร (ชลบุรี) 105.76 ล้าน ลบ.ม. หรือ 105%, หนองค้อ (ชลบุรี) 21.50 ล้าน ลบ.ม. หรือ 100%, คลองพระพุทธ (จันทบุรี) 72.22 ล้าน ลบ.ม. หรือ 102%, คลองใหญ่ (ระยอง) 51.62 ล้าน ลบ.ม. หรือ 113%, คลองโสน (ตราด) 67.17 ล้าน ลบ.ม. หรือ 103% และเขาระกำ (ตราด) 54.32 ล้าน ลบ.ม. หรือ 113%

“มีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการด้านน้ำในภาคเอกชนขอให้กรมชลประทานเร่งพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง เพื่อลดความเสี่ยงจากอิทธิพลฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นจากพายุดีเปรสชั่นลูกใหม่ จากสถานการณ์น้ำในปัจจุบันไม่ใช่เพียงแต่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จะมีน้ำเกินไปกว่าความจุอ่างแล้ว แต่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน”

“หากไม่รีบพร่องน้ำจะส่งผลกระทบก่อให้เกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่ในพื้นที่ เพราะอ่างเก็บน้ำไม่มีความสามารถจะรับน้ำได้อีกแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากเพราะเหลืออีกเพียงไม่กี่วันพายุก็จะเข้าสู่ประเทศไทยตอนนี้ก็ได้แต่ภาวนาว่าหย่อมความกดอากาศต่ำที่ว่าจะไม่พัฒนาเป็นพายุดีเปรสชั่นขึ้น และทวีกำลังเข้าสู่ประเทศไทยผ่านทางประเทศกัมพูชา” นักวิชาการด้านน้ำให้ความเห็น