อุตฯ อาหาร-เครื่องดื่มไทย โกยรายได้ 8 เดือน 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

แฟกตอรี่แซนด์บอกซ์

สนค. ชี้กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยังคงเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สร้างรายได้ให้แก่คนไทยมากที่สุด พร้อมแนะให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฯ ติดตามเทรนด์ของอาหาร โดยเฉพาะเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ และการผลิตใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

วันที่ 27 ตุลาคม 2564 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ศึกษาอุตสาหกรรมส่งออกที่สร้างรายได้ให้กับคนไทย โดยผลการศึกษา พบว่า อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้แก่คนไทยอย่างแท้จริงมากที่สุด

บ่งชี้จากสัดส่วนของมูลค่าส่งออกที่มาจากบริษัทของคนไทยต่อมูลค่าส่งออกทั้งหมดของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่สูงถึง 73% อีกทั้งมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศมากถึง 81% ทั้งนี้ ในปี 2563 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้กว่า 20,505 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 8 เดือนแรกของปี 2564 สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นมูลค่า 14,047 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ สนค. ได้ทำการวิเคราะห์สถานะของสินค้าไทยในตลาดโลกภายใต้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม พบว่า สามารถแบ่งกลุ่มสินค้าศักยภาพ ได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มสินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในตลาดโลกมาก และการส่งออกมีอัตราขยายตัวดีต่อเนื่อง หรือกลุ่มดาวเด่น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช อาหารสัตว์ เครื่องปรุงรส และสินค้าอาหารจำพวกเส้น และกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มสินค้าที่การส่งออกมีอัตราขยายตัวดีแต่ยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยในตลาดโลก

ซึ่ง สนค. มองว่า เป็นสินค้ากลุ่มเติบโต จึงเป็นโอกาสที่จะผลักดันการส่งออกมากขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ โดยภาครัฐอาจสนับสนุนผู้ประกอบการด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการรับรู้้สินค้าไทยของผู้บริโภคในตลาดส่งออกให้มากขึ้น ได้แก่ เนื้อสัตว์และอาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์นม อาหารปรุงแต่ง ขนมปังและเบเกอรี่ และสิ่งปรุงแต่ง ขนมทำจากน้ำตาล และไอศกรีม

ขณะเดียวกัน มีบางกลุ่มสินค้าที่ สนค. พบว่า การส่งออกของสินค้าไทยมีอัตราขยายตัวลดลง หรือมีอัตราหดตัว เมื่อเทียบกับในอดีตที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าผัก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สินค้าน้ำตาล และสินค้าชา ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องลงทุนพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง โดยบางสินค้าอาจมีการอิ่มตัวในตลาดเดิม จำเป็นต้องขยายตลาดใหม่ ๆ ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตของการนำเข้า และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย

นายรณรงค์ฯ กล่าวอีกว่า การพัฒนาสินค้าในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อให้สินค้าไทยยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาด และมีอัตราขยายตัวของการส่งออกที่ดีต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องติดตามเทรนด์ของอาหารและเครื่องดื่มที่เปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมผู้บริโภค

โดยเฉพาะพฤติกรรมหลังจากเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญต่ออาหารและเครื่องดื่มที่ส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดี การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัยจากสารเคมี รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดมลพิษน้อยที่สุด

ทั้งนี้ สนค. มองว่า เทรนด์อาหารอนาคต (future food) จะยังคงเป็นกระแสระยะยาว ได้แก่ อาหารออร์แกนิก อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ (functional food and drink) อาหารทางการแพทย์ที่ไม่ใช่ยาและอาหารเสริม อาหารนวัตกรรมใหม่ (novel food)

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสินค้าอาหารที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้นโยบายส่งเสริมการส่งออกไว้ด้วย เนื่องจากมีกลุ่มผู้บริโภคจำนวนมาก และคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มเติมเข้าสู่ประเทศได้อีกมาก คือ อาหารฮาลาล และอาหารมังสวิรัติ (รวมถึง plant-based food)