Next Normal เกษตรไทย อุ้ม 30 ล้านคน ดันจีดีพีโต 3% ต่อปี

เกษตร next normal
แฟ้มภาพประกอบข่าว

ภาคเกษตรเกี่ยวพันกับประชากรไทย 30 ล้านคนเทียบเป็นสัดส่วนเกือบ “ครึ่งประเทศ” แต่สัดส่วนจีดีพีภาคเกษตรกลับมีน้อยนิด ทั้งยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่รุกเข้ามาดิสรัปชั่นอีก

ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนา “Disruptive Change : เกษตรไทย ต้องเปลี่ยนโฉม” หารือในประเด็นการก้าวสู่ next normal ภาคเกษตร

BCG ดันจีดีพีเกษตรเพิ่ม 20%

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาคเกษตร เป็นภาคการผลิตที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยจุดเปลี่ยนที่ชัดเจนที่สุด คือวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ยิ่งตอกย้ำว่า

หากไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคเกษตรในอนาคตจะยิ่งซ้ำระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากมีแรงงานภาคเกษตรมากถึง 30 ล้านคน แต่จีดีพีภาคเกษตรกลับมีสัดส่วนแค่ 8% ถือว่าน้อยมาก

ดังนั้น จำเป็นจะต้องผลักดันจีดีพีภาคเกษตรเพิ่ม 20% จึงจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ด้วยการยกระดับสู่การทำเกษตรสมัยใหม่และเกษตรแบบแม่นยำ มุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (biocircular-green economy : BCG economy) มาใช้ในการพัฒนา การส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกร หรือ startup สร้างมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์รูปแบบการบริโภคในอนาคต

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การปรับตัวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นับจากนี้จะต้องก้าวไปสู่ next normal 2022 โดยบุคลากรในสังกัดกระทรวงจะเป็นฟันเฟืองสำคัญ 3 เรื่อง คือ ความมั่นคงด้านอาหาร เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ราคาสินค้าหลุดพ้นกับดักความยากจน

ซึ่งตั้งเป้าลดความยากจนให้ได้ 10% ด้วยการแปรรูปมูลค่าสูง บนพื้นที่ 149 ล้านไร่ โดยมีพื้นที่ชลประทาน 35 ล้านไร่ เกษตรกร 30 ล้านราย จากจีดีพีเกษตร 8.6% ต้องเพิ่มขึ้นให้ได้ 3%/ปี

ระเบียบโลกบีบภาคเกษตรไทย

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ความเห็นว่า ความเสี่ยงภาคเกษตรยังมีสูง เพราะต้องพึ่งพาราคา รัฐต้องสร้างมูลค่าในห่วงโซ่อุปทาน และจัดการน้ำ จัดสรรงบประมาณให้ตรงจุด ผลักดันให้เกษตรกรรมเป็นอาชีพ ไม่ควรมองเกษตรกรยากไร้ และต้องมีความชัดเจนในเรื่องเกษตรกรสมัยใหม่ ผลิตเพื่อสร้างแบรนด์ จัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบใหม่ให้เข้ากับโลกปัจจุบัน และแก้ไขกฎหมายให้เข้ากับยุคสมัย

นายวิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เวียดนาม และอินโดนีเซียแซงหน้าไปอย่างรวดเร็ว สะท้อนขีดความสามารถแข่งขันภาคเกษตรมาก ที่ชัดเจนที่สุดคือ ไทยเผชิญปัญหาแรงงานเกษตร เผชิญสังคมสูงวัยในอัตราเร่งและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 13% อนาคตความท้าทายในเรื่องอาหารปลอดภัยจะเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตที่เริ่มมีกฎการกีดกันทางการค้า การลงทุนจะไหลรวมไปสู่โลกของการใส่ใจสิ่งแวดล้อม รัฐ เอกชน เกษตรกรต้องไม่รีรอหรือช้าไปมากกว่านี้

เกษตรกรต้องพร้อมปรับตัว

นางผกากาญจน์ ภู่พุดตาล กรรมการ บริษัท ผกากาญจน์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ “หอมผกา” ชาวนาผู้ผลิตแปรรูปข้าว กล่าวว่า แม้ผู้คนจะเผชิญปัญหาวิกฤตโควิด แต่บริษัทกลับขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น 30% ด้วยการปรับการขายออนไลน์และวิธีคิดที่ว่าเจอวิกฤตกี่ครั้งก็ต้องปรับตัว บริษัทใช้แอปพลิเคชั่นมาช่วยดูสภาพอากาศ และทำตลาดด้วยการสร้างเครือข่าย เชื่อมโยงเทคโนโลยี

next-normal

นายสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ด จำกัด กล่าวว่า เดิมบริษัททำลำไยอบแห้ง แล้วเริ่มมองหาโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ กระทั่งเริ่มศึกษาอาหารจากพืช ที่ไม่ใช่เพียงมังสวิรัติ มาเป็น plant based food (โปรตีนจากพืช) ไม่ถึง 3 ปี สามารถส่งออกได้ 3-4 ประเทศ

ส่วนตัวมองว่า ภาคเกษตรไทยต้องมองเรื่องอาหารปลอดภัยเป็นหลัก ต้องมีตลาด ต้องเข้าถึงเกษตรบริการ เครื่องจักรกล บีโอไอควรส่งเสริมเกษตรบริการ และหน่วยงานการศึกษาควรเป็นศูนย์รวมความรู้จุดเดียวให้เข้าถึงง่าย

“สุดท้ายเราอยากเห็นคนใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรามองเห็นโอกาสตลาดนี้ก็เริ่มจากอ่านเอง ทดลองเอง ลองผิด ลองถูก ดังนั้น โควิด-19 ทำให้เราเปลี่ยนแปลง พยายามหาทางรอด ต้องผลิตแล้วมองตลาดนำ และต้องทำราคาให้ลูกค้ายอมรับได้”