‘ใคร’ หายไปจาก คดีทุจริตถุงมือยาง อคส.

หากยังไม่ลืมว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ยกกรณีการทุจริตจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) จากบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด ขึ้นมาชี้ว่าเหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ปล่อยปละละเลยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

โดยได้มีไล่เรียงกระบวนการจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่ากว่า 1.1 ล้านบาท นับจากการประชุมคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2563 หลังจากที่ทำสัญญากับบริษัทถุงมือยางฉาวเพียง 1 วัน และขายให้กับ 7 บริษัทในราคาถูก พร้อมทั้งเชื่อมโยงตัวละครสำคัญว่ามี นายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการ อคส. ซึ่งเขาอ้างว่าเป็นคนสนิทผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้สั่งการให้ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการ ผอ.อคส. และเจ้าหน้าที่ อคส. 3 คน ดำเนินการ และ นายศรายุทธ์ สายคำ หรือเอี่ยว อดีตคนสนิทประธาน อคส. ร่วมด้วย

ซึ่งได้มีจัดฉากว่ามีผู้สนใจซื้อถุงมือยางจำนวนมาก จนต้องเร่งรัดทำสัญญา กับบริษัทถุงมือยาง กล่องละ 225 บาท รวม 500 ล้านกล่อง รวม 1.1 แสนล้านบาท ทั้งยังให้บริษัทดังกล่าววางเงินประกันการส่งมอบให้ อคส. 200 ล้านบาท แลกกับที่ อคส.วางเงินประกันค่าถุงมือที่ อคส.ต้องวางให้กับบริษัท 2,000 ล้านบาท หรือเท่ากับบริษัทจะได้เงินไป 1,800 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนั้นเป็นเงินที่มาจากบัญชีของ อคส.

นายประเสริฐเรียกร้องให้ “รับผิดชอบ” โดยการตรวจสอบและเอาผิด รวมถึง “ปรับ ครม. ภายใน 15 วัน แต่ก็ไร้ผล

“นายจุรินทร์” รมว.พาณิชย์ ปฏิเสธอย่างหนักแน่นทั้งความเกี่ยวข้องกับตัวละครที่กล่าวหา พร้อมกำชับว่าได้สั่งการให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายในทันที อย่างถึงที่สุด

ซึ่งหากรวมระยะเวลาในการตรวจสอบ ก็เรียกว่าผ่านมา 1 ปี 1 เดือนแล้ว

ล่าสุด นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ อคส. (คนใหม่) ได้รับผลสอบในชุดคณะกรรมการพิจารณาความผิดทางวินัย ซึ่งมี นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน พิจารณาความผิดทางวินัยว่าให้ไล่ออกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 3 คน (พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการ ผอ.อคส., นายเกียรติขจร แซ๋ไต่ และ นายมูรธาธร คำบุศย์ เจ้าหน้าที่บริหารระดับ 8) ซึ่ง อคส.ได้เสนอที่ประชุมบอร์ด อคส. ซึ่งมี “นายสุชาติ” เป็นประธานเห็นชอบให้ไล่ออกไปแล้ว แต่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 60 วัน

“ผมได้ย้ำกับ อคส.ไปหลายครั้งแล้วว่า ต้องเอาตัวคนผิดมาลงโทษให้ถึงที่สุดตามกฎหมาย และตามอำนาจหน้าที่ที่ อคส.มี ซึ่งนอกจากจะเอาผิดทางคดีอาญาแล้ว ยังต้องเอาผิดทางแพ่ง เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องชดใช้ให้กับ อคส.ด้วย” นายจุรินทร์กล่าว

ในส่วนการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิด ซึ่งมี นายวันชัย วราวิทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ระบุว่า อคส.เสียหาย 2,003 ล้านบาทจากค่ามัดจำถุงมือยาง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ราย จะต้องชดใช้ความเสียหายให้ อคส.รวมกันกว่า 400 ล้านบาท และที่เหลืออาจจะให้ผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้อง (ยังไม่ระบุชื่อ)ร่วมชดใช้ด้วย

และหากทั้งหมดนี้ไม่ยินยอมชดใช้ หรือไม่มีเงินชดใช้ค่าเสียหายจะบังคับยึดทรัพย์ต่อไป

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว คาดว่าจะสรุปสำนวนทั้งหมด และชี้มูลความผิดได้ในเร็ว ๆ นี้

ดูผิวเผินอาจจะเห็นว่ากระบวนการพิจารณาเอาผิดค่อย ๆ คลี่คลายไปทีละเปลาะ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับ “การเมือง” ที่กำลังจะเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านรัฐมนตรีจากทุกพรรคต้องเร่งเครื่องการทำงานโค้งสุดท้ายทุกวิถีทาง ทั้งสร้างผลงานและเคลียร์เรื่องลบ ดังนั้น น่าจะเป็นจังหวะที่จะเห็นปลายทาง “คดี” ได้ไม่ยากนัก

แต่ทว่ายังมีข้อกังขาบางจุดที่ไม่ชัด แม้ผลสรุปความผิดทางวินัยจะออกมาแล้ว แต่มี “ตัวละครบางตัว” ที่เลือนหายไปจากการพูดถึงด้วยเหตุที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ อคส. จึงไม่สามารถตรวจสอบความผิดทางวินัยได้ นั่นหมายถึงคดีก็ถูกตัดตอนเหลือแค่ “ปลาซิวปลาสร้อย”

หรือมูลค่าความเสียหายที่ยังไม่ครอบคลุมดอกผล และการเสียโอกาสทางธุรกิจ หาก อคส. เอาเงินนี้ไปลงทุนด้านอื่นอาจช่วยพยุงสถานะรัฐวิสาหกิจที่ย่ำแย่ ให้สามารถพลิกฟื้นมีกำไรได้