เอกชนเตรียมปฏิวัติการเกษตร ตัว BOOST เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19

ศักดิ์ชัย อุ่นจิตติคุณ
ศักดิ์ชัย อุ่นจิตติคุณ

ส.อ.ท.เผย 4 กลุ่มอาหารแห่งอนาคต Functional Food, Medical Food, Organic Food, Novel Food รวมถึงโปรตีนทางเลือก คือทางรอดเศรษฐกิจไทย ปั้น “Smart Farming” เพิ่มรายได้จากผลผลิต เตรียมเสนอในที่ประชุม ABAC ในฐานะเจ้าภาพปี’65 ไทยพร้อม “ปฏิวัติการเกษตร”

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสวนาเรื่อง เดินหน้า ทะลุโจทย์ประเทศไทย 2022 ภายในงานสัมมนา “BOOST UP THAILAND 2022” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่า

ไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ 2-3 เรื่อง อย่างสงครามการค้าระหว่างจีนและอเมริกากระทบอุตสาหกรรมไทยมาก การดิสรัปต์เทคโนโลยี ซึ่งต้องยอมรับว่าไทยเองนั้นไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง อุตสาหกรรมที่ผ่านมาส่วนใหญ่จึงเป็นการรับจ้างผลิต (OEM) เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทั้งหมดจึงส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรโดยรวม

ในขณะเดียวกันเรายังคือ “ผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก” ลงจากอันดับที่ 11 เมื่อปี 2562 โดยมีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท แต่ทางรอดที่เราเห็นคือไทยมีวัตถุดิบ มันจึงเป็นโอกาสของประเทศไทย

ก็ต้องยอมรับว่าไทยเองยังคงพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โควิด-19 ครั้งนี้มันทำให้เห็นว่าจากนี้ไทยต้องกลับมามองเรื่องของ “Local Economy” เช่นเดียวกับที่ทั่วโลกมอง เพราะเรามีฐานด้านการเกษตร แต่ต้องเป็นเกษตรในรูปแบบของ “Smart Farming” หรือการทำการเกษตรอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการระบบการเพาะปลูกในทุก ๆ ขั้นตอน ที่ไม่ใช่เกษตรดั้งเดิมปล่อยให้ปลูกแล้วขาย สุดท้ายเกษตรกรยังคงมีรายได้ต่ำยากจนเช่นเดิม จากนี้ไปต้อง “ปฎิวัติการเกษตร” หมายถึงต้องพลิกฝ่ามือ โดยมีเป้าหมายเกษตรปลอดภัยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งนี่จะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ จากที่เราปล่อยปละละเลยกันมา

โดยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 คณะกรรมการ ส.อ.ท. นำโดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อนำเสนอเรื่องเกษตรปลอดภัยเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะนำเอาการท่องเที่ยวไปเชื่อมโยงกับภาคการเกษตรในท้องถิ่น

โอกาสของประเทศไทยเราเห็น 4 กลุ่มที่จะเป็นตัว BOOST เศรษฐกิจขึ้นมาได้ คือ อาหารแห่งอนาคต ประกอบด้วย 1.Functional Food อาหารเสริมสุขภาพ หรืออาหารฟังก์ชั่น 2.Medical Food อาหารทางการแพทย์ 3.Organic Food อาหารอินทรีย์ 4.Novel Food อาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกจะมุ่งมาทางนี้

เช่น โปรตีนทางเลือก ทั่วโลกกำลังหารือกันถึงทิศทางที่จะไปสู่การผลิตโปรตีนเหล่านี้ทดแทนเนื้อสัตว์ อย่างโปรตีนที่ได้จากพืช โปรตีนที่ได้จากแมลง โปรตีนที่ได้จากสาหร่าย โปรตีนจากการเพาะเนื้อเยื่อ และโปรตีนจากการเพาะเชื้อรา ไทยมีโอกาสมาก เพราะปัจจุบันไทยเองเริ่มมีบริษัทที่ผลิตได้แล้ว ทั่วโลกมีการเติบโตจากโปรตีนทางเลือกนี้ถึง 80%

และในปี 2565 ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก หรือ ABAC ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปกผู้นำเขตเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะมีการหารือประเด็นสำคัญคือจำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 40 ปีข้างหน้า หรืออยู่ประมาณ 9,600 ล้านคน จะบริหารจัดการเรื่องของอาหารอย่างไร

โดย ส.อ.ท.เองก็เตรียมเสนอ 3 เรื่องในที่ประชุม คือ Agri-Tech Ravolution Alternnative Protein และ Standardization for Food Security & Food Safety เป็นแนวทางที่ไทยจะมุ่งไป จะทำให้ไทยได้เปรียบและทางเลือกอีกมาก ด้วยไทยมีต้นน้ำสร้างต้นน้ำที่ปลอดภัยได้ ซึ่งมันจะไปตอบโจทย์นโยบาย BCG และขึ้นเป็นผู้นำการส่งออกผักผลไม้ของโลก


ดังนั้นแล้วการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การใช้เทคโนโลยี การบริหารจัดการน้ำให้ดี การมี Young Smart Farming กว่า 45,000 คนในตอนนี้ มันจะช่วยดันภาคเกษตรแบบเดิมก้าวเข้าไปสู่การสร้างมูลค่าให้กับอาหารด้วยเทคโนโลยี แล้วถ่ายทอดให้กับเกษตรในท้องที่ จะเกิดอาสาสมัครด้านเกษตรขึ้นมา เกิดเกษตรแม่นยำ ตลาดนำการผลิต มาตรฐานต่าง ๆ ระบบโลจิสติกส์ก็ต้องเข้ามาช่วย เหล่านี้คือสิ่งที่จำเป็น นี่จึงเป็นทิศทางของไทยที่จะทำ