ไทยตกอันดับส่งออกอาหารโลก ส.อ.ท.หนุนเฟส 3 เกษตรแม่นยำ 4 ล้านไร่

ส่งออกอาหาร

แก้เกมไทยตกอันดับผู้ส่งออกอาหารโลก “ส.อ.ท.” หนุนปฏิวัติภาคเกษตรตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ลุยเกษตรแม่นยำ เฟส 3 เป้าหมายเพิ่มเท่าตัวเป็น 4 ล้านไร่

พร้อมหนุนไทยผลิตอาหารแห่งอนาคต ปั้น “smart farming” เตรียมถกที่ประชุม ABAC ปี’65 สร้างความมั่นคงอาหาร

นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” หลังงานสัมมนา “BOOST UP THAILAND 2022” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.กระบี่ในสัปดาห์หน้า เตรียมเสนอโครงการส่งเสริมการแปรรูปพืชสมุนไพรอย่างกระท่อม เพื่อสร้างโอกาสสร้างรายได้ให้เกษตรกร

จากที่ขณะนี้สมาชิกทางภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งปลูกหลักให้ความสนใจ และยังมีกลุ่มสมุนไพร ส.อ.ท.หลายรายให้ความสนใจพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายตลาดนำการผลิต

ก่อนหน้านี้ทางคณะกรรรมการร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) ดำเนินการโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำ เฟส 2 บนพื้นที่
1.6 ล้านไร่ มีเอกชนเข้าร่วมโครงการ 8 ราย

เพิ่มจากเฟสแรกที่มีบริษัทเอกชนร่วม 7 รายในพืช 5 ชนิด มะเขือเทศ ข้าวโพดหวาน อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน พื้นที่ 3 แสนไร่

ในส่วนของโครงการนี้ทางภาคเอกชนจะเข้าไปรับซื้อโดยใช้ระบบคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งตกลงเรื่องราคาที่เกษตรกรมีกำไร และปริมาณที่สอดรับกับความต้องการ มีการดึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

มาให้สินเชื่อดอกเบี้ยถูกแค่ 0.01% ต่อปีหรือ 1 ล้านบาท เสียดอกเบี้ย 100 บาท เพราะต้องการเกษตรกรมาสู่ระบบให้ได้ โครงการเกษตรแปลงใหญ่เดิมมีวงเงิน 3,000-4,000 ล้านบาท

“เกษตรแม่นยำ เฟส 2 ได้ขยายไปถึงมันสำปะหลัง ยางพาราภาคอีสาน อ้อย และผักสดและผลไม้ เพราะได้ประเมินแล้วว่าผัก เช่น โหระพา สะระแหน่ เป็นสินค้าที่มีศักยภาพไทยมีตลาดส่งออก

แต่ที่ผ่านมาส่งออกไม่ได้เพราะติดเรื่องสารเคมี เราจึงพยายามจะพัฒนาทั้งการผลิตและมาตรฐานการส่งออก โดยสินค้านี้มีบริษัทสวิฟ ผู้ส่งออกผักผลไม้มาร่วมด้วย บริษัทผลักดันให้เกษตรกรผลิตตามมาตรฐาน GAP

เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการเกษตรมีปัญหามาก เรื่องแรกคือปริมาณที่จะเข้าสู่การผลิตและคุณภาพมาตรฐาน เช่น ข้าวโพดหวานมีความต้องการมากแต่ไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการ อีกทั้งไม่สามารคาดคะเนผลผลิตต่อไร่จะเข้ามามากน้อยแค่ไหน

เมื่อเรามีการจับมือกับกระทรวงเกษตรผลักดันให้เป็นเกษตรแปลงใหญ่ หรือโครงการเกษตรแม่นยำ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต หากสำเร็จจะช่วยผลักดันให้ไทยขึ้นไปอยู่ท็อป 10 ผู้ส่งออกอาหารหลักของโลก”

นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในปีหน้ามองว่าอนาคตจะขยายโครงการเกษตรแม่นยำ ในเฟส 3 มีโอกาสที่จะขยายพื้นที่ไปถึง 4 ล้านไร่ ถ้าสำเร็จจะทำต่อไปเรื่อย ๆ เกษตรสร้างวัตถุดิบ เรานำมาแปรรูป

แต่ที่สำคัญต้องได้มาตรฐานที่เรากำหนด เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตได้ ทางเราก็จะมั่นใจที่จะรับออร์เดอร์ได้ เป็นการใช้การตลาดนำการผลิตสร้างโอกาสในอนาคต รวมถึงช่วยลดการใช้งบประมาณในการประกันรายได้

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาไทยคือผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก ตกอันดับลงมาจากอันดับที่ 11 เมื่อปี 2562 ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท เพราะต้องเผชิญกับวิกฤต 2-3 เรื่อง

ทั้งสงครามการค้า การดิสรัปต์ด้านเทคโนโลยี ไทยยังขาดยุทธศาสตร์ ดังนั้น ไทยต้องอาศัยการมีวัตถุดิบ การเป็นฐานด้านการเกษตร จำเป็นที่ต้อง “ปฏิวัติการเกษตร” หมายถึงต้องพลิกฝ่ามือโดยมีเป้าหมายเกษตรปลอดภัยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งนี่จะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

จากเดิมพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อมีโควิด-19 มามองเรื่อง“local economy” ต่อยอดด้านเกษตรสร้างรายได้เข้าประเทศ

วางระบบการเกษตรอัจฉริยะนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการทุกขั้นตอน (smart farming) การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับภาคการเกษตรในท้องถิ่น การยกระดับมาตรฐานเกษตรปลอดภัยเป็นวาระแห่งชาติ การส่งเสริมการให้ GAP กลุ่มเกษตรกร

และต่อยอดสินค้าอาหารแห่งอนาคต ทั้งอาหารเสริมสุขภาพ (functional food), อาหารทางการแพทย์ (medical food), อาหารอินทรีย์ (organic food) อาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม (novel food)

รวมถึงโปรตีนจากพืช (plant based) ซึ่งได้จากวัตถุดิบต่าง ๆ เช่น แมลง สาหร่าย การเพาะเนื้อเยื่อ และการเพาะเชื้อรา เพื่อสร้างโอกาสในอนาคต

“ในปี 2565 สินค้าเกษตรมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่เราต้องส่งเสริมให้ผลิตสินค้าได้ปริมาณและคุณภาพที่ตลาดต้องการใช้การตลาดนำการผลิต และเราใช้โอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (ABAC)

หารือประเด็นสำคัญคือ เรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร จากจำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 40 ปีข้างหน้า เป็นประมาณ 9,600 ล้านคน จะบริหารจัดการเรื่องอาหารอย่างไร”

ในส่วนของทาง ส.อ.ท.เตรียมเสนอ 3 เรื่องคือ agri-tech revolution alternativeprotein และ standardization for foodsecurity & food safety เป็นแนวทางที่ไทยจะมุ่งไป จะทำให้ไทยได้เปรียบและทางเลือกอีกมาก

ด้วยไทยมีต้นน้ำสร้างต้นน้ำที่ปลอดภัยได้ ซึ่งมันจะไปตอบโจทย์นโยบาย BCG และขึ้นเป็นผู้นำการส่งออกผักผลไม้ของโลก”